สกศ. เปิดเวที Update ข้อมูลเงินอุดหนุนรายหัว ระดมไอเดียเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงการศึกษา

image

วันนี้ (๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานเปิดการประชุม แนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ : ครั้งที่ ๑ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร องค์กรเอกชน ครู บุคลากรทางการศึกษา  ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมประชุม ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร

.

แมตช์แรกประเดิมการประชุมรอบนี้เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เป็นการชี้แจงข้อมูลการปรับอัตราเงินอุดหนุนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ รวมถึงให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ สู่การเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์แนวทางการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและสถานศึกษา

.

.

ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังบรรยายหัวข้อ “การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดยผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการเงินการคลังและทรัพยากรทางการศึกษา (ดร.ปัทมา เอี่ยมละออง) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๕ ปี โดยอาศัยผลการศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงลึกค่าใช้จ่ายจริงสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ม.ปลาย/ ปวช. ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ-นอกระบบ  ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ มีมติเห็นชอบการปรับเงินอุดหนุนฯ แบบขั้นบันไดต่อเนื่อง ๔ ปี  (๒๕๖๖ – ๒๕๖๙) ใน ๔ รายการ ได้แก่

๑) ค่าจัดการเรียนการสอน (สื่อ วัสดุการสอน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) ปีสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากปี ๖๕ ร้อยละ ๒๐

๒) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (กิจกรรมวิชาการ ทัศนศึกษา ฯลฯ) ปีสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากปี ๖๕ ร้อยละ ๓๐

๓) ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕ ตั้งแต่ปี ๖๖ และคงที่ในปีต่อ ๆ ไป

๔) ค่าเครื่องแบบนักเรียน เพิ่มให้ครบ ๑ ชุด และเพิ่มเติมอีก ๑ ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

.

 ต่อเนื่องด้วย “การอภิปรายและให้ความเห็นต่อการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” โดย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก) และอดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) กล่าวถึง โอกาสทางการศึกษาประกอบด้วยปัจจัยหลายด้าน ครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมถึงการจัดการศึกษา โดยสิ่งสำคัญคือ การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ  ทั้งในส่วนของการจัดสรรให้กับผู้จัดการศึกษาและผู้รับการศึกษา ให้มุ่งเพิ่มโอกาสในการเข้าการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยคำนึง ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy) ความเป็นธรรม (Fairness) และประสิทธิภาพ (Effciency) ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เพียงพอกับความจำเป็นพื้นฐาน จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัว รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ

.

ช่วงบ่ายวงเสวนา Focus Group “ระดมไอเดียแนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” เกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบ (สามัญศึกษา และอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.) การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีการเปิดมุมมองจากสถานศึกษาที่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ มีบริบทการเรียนการสอนที่แตกต่างเนื่องจากการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์เฉพาะสาขาวิชา รวมถึงผู้เรียนและสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าปกติทั่วไป มีความจำเป็นรับการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรม

.

ทั้งนี้ สกศ. เตรียมจัดประชุมต่อเนื่องใน ๔ ภูมิภาค ขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดสรรทรัพยากร เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาที่เหมาะสมต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด