อนุกรรมการ กกส. เดินหน้าสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

image

วันนี้ (๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายธนู ขวัญเดช) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของสภาการศึกษา โดยมี นายสุรศักดิ์ มุกประดับ เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางประวีณา อัสโย) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

.

คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจ้ดการศึกษา เป็นคณะที่ ๖ ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา แต่งตั้งโดยประธานกรรมการสภาการศึกษา (นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ตามคำสั่งสภาการศึกษา ที่ ๑/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ โดยมี นายสุรศักดิ์ มุกประดับ เป็นประธานอนุกรรมการ รองศาสตราจารย์ดนุวัศ สาคริก เป็นรองประธานอนุกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ ๑) พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกาา และการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ๒) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการมอบหมาย ๓) เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งจัดหา รวบรวม จัดส่งหรือชี้แจงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๔) รายงานผลการดำนินงานของคณะอนุกรรมการต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา และ ๕) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาการศึกษาหรือประธานกรรมการสภาการศึกษามอบหมาย

.

แนวทางและแผนการดำเนินงานมีดังนี้ ๑) ศึกษาวิจัยสภาพการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของประชาชนระดับจังหวัด โดยจัดทำและพัฒนาเป็นฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ๗๗ จังหวัด  ๒) จัดเวทีสมัชชาการศึกษาระดับภาค จำนวน ๓ พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดมหาสารคาม และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ของภาคประชาชน (ควรพิจารณาจังหวัดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลปัญหาที่แท้จริง) ๓) จัดเวที "สมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ"  เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทั่วประเทศ และร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และมติสมัชชาชาติเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ๔) จัดทำรายงานมติสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาหรือคณะรัฐมนตรี และ ๕) จัดทำรายงานผลการดำนินงานของอนุกรรมการเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและให้ข้อเสนอแนะในการการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา อาทิ ๑) ต้องมองปัญหาเป็นตัวตั้งและทำแผนระดับจังหวัดร่วมกัน ๒) กำหนดให้สมัชชามีบทบาททางกฎหมาย ๓) เน้นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ ๔) สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ๕) ควรสร้าง Platform ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการศึกษาและช่วยในการประมวลผลข้อมูล ๖) ควรจัดเวทีในการสื่อสาร ๗) ควรร่วมมือกับสื่อมวลชนในการลงพื้นที่การจัดเวทีสมัชชาการศึกษาระดับภาคเพื่อทำให้เกิดพลังในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้ามาย ๘) ควรใช้กลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เช่น ดึงศึกษาธิการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม และเลือกประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การศึกษาเพื่อการมีงานทำ เด็กหลุดออกจากนอกระบบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น

.

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการศึกษาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด