สกศ. ผุดโปรเจ็กต์ รวม DATA การศึกษาเฉพาะทาง ประเดิมพื้นที่ปราจีนบุรี

image

วันนี้ (๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลการศึกษาเฉพาะทาง พร้อมด้วยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (นางสาวช่อบุญ จิรานุภาพ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สกศ. ก่อนการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ โรงแรมสยามดาษดา เขาใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรีระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕

ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อศึกษารูปแบบและมาตรฐานการจัดการศึกษาของหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทาง ปี ๒๕๖๖ อีกทั้งเพื่อตรวจสอบรับรองข้อมูลสถิติการศึกษาเฉพาะทาง ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ให้มีความถูกต้อง และได้รับข้อเสนอแนะแนวทางการจัดเก็บข้อมูล จากเครือข่ายกลุ่มการศึกษาเฉพาะทางของประเทศไทยให้เป็นอาชีพทางเลือกในอนาคต

"จุดเด่นของการศึกษาเฉพาะทาง ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าทำงานตามสังกัดที่ตรงสาย และได้รับค่าตอบแทนสูง เป็นกระบวนการผลิตพัฒนากำลังคนเข้าสู่โลกของการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และยังผลักดันขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันกับนานาชาติได้

 

โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายกลุ่มการศึกษาเฉพาะทาง เช่น สถาบันอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงเรียนเตรียมทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร ซึ่งข้อมูลทั้งหมด สกศ. จะรวบรวมเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยต่อไป" ดร. สุเทพ กล่าว

หลังจากนั้น คณะ สกศ. เดินทางเยี่ยมชมสถาบันอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โดยมี นางสาวมาลินี มิลาสม ผู้อำนวยการสถาบันอุตุนิยมวิทยา และนายสมภพ วงศ์วิไล ผู้อำนวยการกองบริการดิจิทัลอุตุนิยมวิทยาให้การต้อนรับซึ่งสถาบันมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรให้มีสมรรถนะมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อกระบวนการการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของชั้นบรรยากาศเพื่อนำไปใช้ในการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารอุตุนิยมวิทยาไปยังผู้ใช้งานด้านการเกษตร เมื่อผู้เรียนจบหลักสูตรแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาอุตุนิยมวิทยา และได้บรรจุรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานอุตินิยมวิทยา

สถาบันอุตุนิยมวิทยา เปิดรับผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษามัธยมปลาย สายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีโครงสร้างหลักสูตรแบ่งเป็นภาคทฤษฎี ๗๒๐ ชั่วโมง ประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐาน หมวดวิชาอุตุนิยมวิทยาทั่วไป และหมวดวิชาเสริม และภาคปฏิบัติการ ๗๕๐ ชั่โมง รวมจำนวนชั่วโมง ๑,๔๗๐ ชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ ๑ ปี โดยผู้สนใจสามารถติดตามประกาศได้ทางเว็บไซต์ www.tmd.go.th ภายใต้สถาบันดังกล่าว ยังมีกองการแผ่นดินไหว ที่มีห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและแจ้งเตือนภัยกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า ๑๕๐ สถานี และในขณะเดียวกันยังมีภารกิจการป้องกันข่าวปลอมอีกด้วย

จากนั้น คณะ สกศ. เดินทางศึกษาดูงานภาคปฏิบัติของสถานีอุตุนิยมวิทยาปราจีนบุรี ชมเรือนเทอร์โมมิเตอร์(Thermometer Screen) อ่านค่าอุณหภูมิและความชื้น โดยวัดอุณหภูมิ ทุก ๓ ชั่วโมง เครื่องวัดฝนแบบถ้วยกระดก(Trpping Bucket Riangauge) เครื่องวัดระยะทางลม (Wind Run) โดยค่าที่วัดได้ทั้งหมด จะถูกส่งไปที่ส่วนกลางเพื่อวิเคราะห์พยากรณ์อากาศต่อไป

การเยี่ยมชมและเรียนรู้วิธีการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตัวอย่างทั้ง ๒ แห่ง จะเป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดนโยบายทางการศึกษา และหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชน ในวันที่ ๑๕-๑๖ธันวาคม ๒๕๖๕

 

รูปข่าวเพิ่มเติมติดตามได้ที่ Facebook ข่าวสภาการศึกษา : https://www.facebook.com/OECCHANNEL/posts/613648127430243

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด