สกศ. ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญ วางเกณฑ์เทียบเคียงหลักสูตร ปวช.-ปวส. ตามกรอบ NQF

image

วันนี้ (๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) เป็นประธานการประชุมพิจารณาการเทียบเคียงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พร้อมมอบนโนบายการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สกศ.

.

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความคาดหวังเรื่องบูรณาการทำงานเชื่อมโยง ๓ หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดย สกศ. เป็นหน่วยงานกลางในการรับรองหลักสูตรการเรียนการสอนและหลักสูตรฝึกอบรมตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และผนึกรวมการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการทดสอบฝีมือแรงงาน/การได้รับใบประกอบวิชาชีพ และยกระดับ ๙ สาขาอาชีพ ๙ สถานศึกษานำร่องให้เป็นฮับของทักษะอาชีพเฉพาะทางที่จำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับความต้องการของกำลังแรงงานของประเทศ

.

จากข้อมูลหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักสูตรที่ขอการรับรองและขึ้นทะเบียนจะต้องตรวจสอบรายการ (Checklist) จำนวน ๗ รายการ ประกอบด้วย ๑) หลักสูตรได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบ ๒) รายวิชาและเนื้อหาในรายวิชาสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๓) กระบวนการพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตรเป็นไปตามแนวทางหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๔) กระบวนการจัดการเรียนรู้ยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพ ๕) การพัฒนาครูและบุคลากรสอดคล้องกับหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ๖) สื่อ/เครื่องมือ/ครุภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และ ๗) การวัดและประเมินสมรรถนะผู้เรียนเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ

.

ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตและร่วมหารือการนำหลักสูตรของสถานศึกษาที่ประสงค์ยื่นขอขึ้นทะเบียนหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ในด้านความสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติแล้ว ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้ทันที สำหรับกรณีหน่วยงานที่ยังไม่ครบตามหลักเกณฑ์ (Checklist) ๗ รายการ ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการจนแล้วเสร็จ โดย สกศ. ทำหน้าที่รับรองและขึ้นทะเบียนหลักสูตรผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

.

โดยข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้ สกศ. จะดำเนินการรวบรวมและเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และรายงานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี เป็นประธานต่อไป ทั้งนี้ สามารถศึกษาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนหลักสูตรการเรียนการสอน/การฝึกอบรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) ผ่านเว็บไซต์ www.thailandnqf.org

.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด