สกศ. เปิดเวทีระดมสมองวิเคราะห์แนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้-เร่งรัดเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

image

วันนี้ (๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมเรื่อง “สภาวะการฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (Learning Recovery and Education Opportunities Effectiveness Accelerations Situation)” ทางระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบ Video Conference  และมอบหมายผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เปิดการประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมี หัวหน้าฝ่ายการศึกษาองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ดร.อาร์ตี้  เซจิ) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค) กล่าวต้อนรับ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่า ๒๐๐ คน ในรูปแบบผสมผสานทั้งแบบ Onsite ควบคู่กับการประชุมแบบ Online ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings และการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ "สภาวะการศึกษาไทย สกศ." และช่องทาง "OEC News สภาการศึกษา" ร่วมแชร์

.

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ข้อมูลจากรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ที่ศึกษาโดย สกศ. พบว่า ผลกระทบที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ที่ผานมา คือ "การสูญเสียการเรียนรู้" (Learning Loss) อันเนื่องมากจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จาก Onsite เป็น Online และ "ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" โดยมีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก สกศ. จึงได้นำมาจัดทำเป็นหัวข้อรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่บ่งบอกถึงสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ มากที่สุด การประชุมครั้งนี้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่เกิดจากโควิด ๑๙ อย่างตรงประเด็น ทั้งในเรื่องการฟื้นฟูการเรียนรู้ และการเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และยังทำให้รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน และมีประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแท้จริง

.

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ผลกระทบอีกผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนคือ "ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" โดยมีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด ๑๙ เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีนโยบาย มาตรการ และโครงการมากมายมาลดและแก้ปัญหาผลกระทบดังกล่าว แต่ความสำเร็จของนโยบาย มาตรการ และโครงการต่าง ๆ ยังต้องเร่งติดตามผลและขับเคลื่อนต่อไป

.

นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ได้ดำเนินการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้พัฒนากระบวนการจัดทำรายงานดังกล่าวให้มีคุณภาพ โดยพัฒนาต่อยอดให้มีมาตรฐานในระดับสากล สร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ สร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย อีกทั้งยังได้นำกระบวนการ Joint Sector Review (JSR) มาเป็นแนวทางในการจัดทำรายงานดังกล่าว ทำให้เกิดการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ผลการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ได้ประเด็นสำคัญของการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕  คือ "การฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา" ซึ่งนำมาเป็นหัวข้อการประชุมครั้งนี้ เพื่อต้องการศึกษา วิเคราะห์ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางสภาวะการฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับห้องเรียน สถานศึกษา หน่วยงานส่วนภูมิภาค หน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.

ดร.อาร์ตี้  เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้เด็กปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและสมรรถนะในด้านต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียน หลุดหายออกจากระบบ สูญเสียการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนจากกลุ่มชายขอบ กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มรายได้ต่ำ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความไม่เสมอภาคทางการศึกษาชัดเจนยิ่งขึ้น  ผลกระทบต่อครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง อาจไม่มีทักษะ และแนวทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว  ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อวางแผนรับมือในอนาคตโดยการปรับการเรียนการสอนให้มีประโยชน์ต่อไป

.

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรม ๒ กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ ๑ การเสวนา เรื่อง “การฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา” จากวิทยากรชั้นนำ อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีร์ ภวังคนันท์) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ. (นางประวีณา อัสโย) นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นางสาวจรูญศรี แจบไธสง) นักวิชาการอาวุโส สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.รณชัย ปานะโปย) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ดร.อุดม วงษ์สิงห์)

.

กิจกรรมที่ ๒ การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อวิเคราะห์สภาวะฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับห้องเรียน สถานศึกษา หน่วยงานส่วนภูมิภาค หน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.

จากการระดมความคิดเห็นสะท้อนมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจ อาทิ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ผู้เรียนเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ ทำให้เกิดภาวะถดถอยของผู้เรียนในด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์มูล ด้านอารมณ์และสังคม โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ๑) วัดผลและคัดกรองผู้เรียน จัดกิจกรรมเสริมให้ตรงกับกลุ่มคัดกรอง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับกลุ่มของผู้เรียน ๒) ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ ใช้วิธีการกระตุ้นโดยการเสริมแรง เน้นเรื่องการวิเคราะห์ การเชื่อมโยงข้อมูล และเน้นให้มีการปฏิบัติจริงเพื่อเสริมสร้างทักษะของผู้เรียน ๓) จัดทำวิจัยในชั้นเรียน ๔) นักเรียนจับคู่บัดดี้เป็นที่ปรึกษา เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพทางด้านอารมณ์และสังคม

.

ประเด็นเกี่ยวกับโอกาสและความเหลื่อมล้ำที่ค้นพบ เช่น ฐานะเศรษฐกิจทั้งครอบครัวส่งผลต่อความพร้อมในการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำในการสอบเข้าแข่งขันเพื่อศึกษาต่อ ความเหลื่อมล้ำทางด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น ๑) การเข้าถึงผู้เรียน สร้างความไว้วางใจให้กับผู้เรียน พบปะกับผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ๒) ใช้ระบบดูแลช่วยเหลือ เพื่อนช่วยเพื่อน ๓) มีการระดมทุนการศึกษาให้กับผู้เรียนผ่านภาคีเครือข่าย

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ สกศ. จัดทำแผนการฟื้นฟูการเรียนรู้ระยะยาว ๑๕ ปี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ สกศ. โดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษาจะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด