สกศ. จับมือ UNICEF เปิดเวที “สภาวะการศึกษา ‘๖๕” ผนึกกำลังขับเคลื่อนการศึกษาไทย ก้าวข้าม VUCA world สู่ BANI world

image

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๕ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง สภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วย นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน และถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook และ Youtube : สภาวะการศึกษาไทย สกศ.



 

ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง การศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ และทิศทางการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๖ ถึงการจัดทำรายงานสภาวะการศึกไทยของ สกศ. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมุ่งศึกษาและวิเคราะห์บริบทอย่างครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของประเทศ สิ่งที่การศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทักษะผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI & STEAM) อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สร้างโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร (UNESCO Bangkok) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) ธนาคารโลกในประเทศไทย (World Bank Thailand) สํานักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) เยาวชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสะท้อนภาพความจริงของการศึกษาระดับประเทศ สู่การจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่สอดคล้องและรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป



 

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันมีเปลี่ยนแปลงผันผวนรวดเร็ว หรือ VUCA World  (Volatility – ความผันผวน, Uncertainty – ความไม่แน่นอน, Complexity – ความซับซ้อน และ Ambiguity – ความคลุมเครือ) แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid 19 โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความไม่แน่นอน หรือ “BANI World” (Brittle - ความเปราะบาง, Anxious - ความกังวล, Nonlinear - คาดเดาได้ยาก และ Incomprehensible - ความไม่เข้าใจ) ทำให้บางอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว ทางภาครัฐจึงเร่งดำเนินการหลายด้านเพื่อพัฒนาประเทศให้เท่าทันและยืดหยุ่นตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้เรียนและตลาดแรงงาน

“สภาการศึกษามุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาพัฒนาทักษะผู้เรียน โดยเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ ภาษา และการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงสนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิด Growth Mindset และสร้าง Multi Skills ให้ผู้เรียนเข้าสู่โลกการทำงานได้จริง พลิกโฉมประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ” ดร.อรรถพล กล่าว


 

ที่ประชุมร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง สภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๕ โดย นายแพทย์สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รศ.ดร.วีรชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เกี่ยวกับการศึกษาสร้างอนาคตไทย ภาวะถดถอยทางการศึกษา และแนวทางการฟื้นฟู โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การแพร่ระบาด Covid-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยที่ลดลง ทำให้ต้องเร่งจัดทำ “การฟื้นฟูการเรียนรู้และการเร่งรัดประสิทธิผลของการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (Learning Recovery and Education Opportunities Effectiveness Accelerations)” พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กไทยที่ลดลง ส่งผลให้จำนวนกำลังคนสมรรถนะสูงของไทยอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ปรับเปลี่ยนวิธีในการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง รวมถึงเร่งพัฒนาสมรรถนะทางการศึกษาให้สามารถแข่งขันระดับโลก ถือเป็นการผลักดันปัจจัยสำคัญ ให้ตอบโจทย์นักธุรกิจเพื่อเชิญชวนให้ตัดสินใจเข้าลงทุนในไทย อันนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนในประเทศไทย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด