สกศ. เปิดเวทีชูนวัตกรรมบริหารจัดการโรงเรียน สร้าง Active Learning Space หนุนเด็กไทยได้ DOE ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ

image

วันนี้ (๑๔ กันยายน ๒๕๖๕) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธานการสัมมนาวิชาการ เรื่อง บริหารจัดการโรงเรียนอย่างไรให้พัฒนาเด็กไทยได้ตาม DOE (Desired Outcomes of Education) ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บังอร เสรีรัตน์ กรรมการสภาการศึกษา ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (ดร.ประวีณา อัสโย) นักวิชาการ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมเสวนาภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา เผยแพร่ขยายวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

.

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นมาตรฐานที่เน้นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา หรือ DOE ๓ ด้าน ได้แก่ การเป็นผู้เรียนรู้ (Learner Person) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-Creator) และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) การบริการจัดการสถานศึกษาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาถือเป็น “คนกลาง” ที่อยู่ระหว่าง “ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ” และ “ผลผลิตทางการศึกษา” คือ นักเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งจะต้องปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของชุมชน และความสนใจของผู้เรียน เพื่อให้มาตรฐานการศึกษาของชาติเกิดผลสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการฉายภาพนวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ซึ่งนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในบริบทที่หลากหลาย โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านประเด็นหารือ ๔ เรื่อง ดังนี้

๑) บริหารจัดการโรงเรียนอย่างไรให้พัฒนาเด็กไทยได้ตาม DOE (Desired Outcomes of Education) 

๒) School Changes บริหารโรงเรียนอย่างไรให้เปลี่ยนแปลง : กรณีตัวอย่างนวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

๓) บริหารโรงเรียนได้ตามสไตล์ ในบริบทที่หลากหลาย

และ ๔) การเสวนา เรื่อง “โรงเรียน OK ด้วย OKRs : แนวคิดการใช้ OKRs (Objective and Key Results) เพื่อการพัฒนาโรงเรียน”

.

ไฮไลท์ช่วงหนึ่งเป็นการถอดบทเรียนสังเคราะห์เป็นรูปแบบ (Model) นวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อสร้างผู้เรียนให้ได้ตาม DOE จากสถานศึกษาหลากหลายภูมิภาค โดยมีจุดร่วมกันคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมครูให้มีเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Coaching) สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก และใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อให้เด็กได้เรียนจากการลงมือสร้างนวัตกรรมจากความถนัดของตนเอง นำไปสู่การเกิดกระบวนการคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่ช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้ สกศ. ยังได้ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านระบบประกันคุณภาพการศึกษาในรูปแบบ OKRs เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารสามารถกําหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับบริบท และเป็นทางเลือกให้กับสถานศึกษาได้เรียนรู้ถึงเครื่องมือการบริหารใหม่ ๆ ที่จะนําพาสถานศึกษาไปสู่ความสําเร็จ

.

ทั้งนี้ สกศ. ได้ศึกษานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในไทยและประเทศที่คัดสรร ได้แก่ ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายองค์ความรู้ให้สถานศึกษาได้ใช้เป็นแนวทางต่อยอดการสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ และปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเอกลักษณ์ และความต้องการของผู้เรียน ท้องถิ่น ชุมชน พร้อมกับสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในพื้นที่ต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด