สกศ. ส่งเสริมความเข้มแข็งท้องถิ่น สนับสนุนวิจัยราชภัฎกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

image

วันนี้ (๑๒ กันยายน ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)" โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กว่า ๑๐๐ คน ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook Fanpage และ Youtube ภายใต้ชื่อ "OEC News สภาการศึกษา"

.

 

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การประชุมวันนี้ สอดคล้องกับกระแสพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดย สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษา เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการจัดอันดับโลกในเรื่องการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จาก Time Higher Education จึงควรขยายผลและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำผลที่ได้รับจากการวิจัยไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

.

 

ด้าน นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวว่า การประชุมเรื่อง "มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)" จัดขึ้นตามโครงการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เพื่อนำพาประเทศให้บรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สกศ. ร่วมขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาทรัพยากรมุนษย์ของประเทศ ๒ โครงการ ได้แก่ ๑) โครงการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ ๒) โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอ และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุง (ร่าง) รายงานการวิจัยดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

.

 

นอกจากนี้ ในช่วงเช้ามีการนำเสนอ (ร่าง) รายงาน เรื่อง "การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จตุพล ยงศร หัวหน้าภาควิชาการบริหารการศึกษา และอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะ พบว่า การวิจัยดังกล่าว เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน หรือ Mixed Methods Research เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม วิธีการดำเนินงานวิจัยและผลที่ได้รับ แบ่งออกเป็น ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๔ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ซึ่งจะทำให้ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์/ผลกระทบ และปัจจัยความสำเร็จ ระยะที่ ๒ ศึกษาแนวทางการดำเนินงานตามพันธกิจและการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยเป้าหมายของมหาวิทยาลัยราชภัฏคือเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์/นโยบาย/แผนงาน ที่มุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้บริหารต้องกำหนดเป้าหมายที่เอื้อและสนับสนุนแสวงหางบประมาณ บุคลากรต้องสอนและดำเนินการวิจัยที่สนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากนักศึกษา ประชาชน ชุมชน เอกชน และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น ระยะที่ ๓ พัฒนารูปแบบ ได้มาซึ่งแนวทางใหม่ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ ๑) จะต้องใช้ศาสตร์ในหลากหลายด้านเชิงวิชาการ ทฤษฎี และทักษะ ๒) การทำงานในเชิงอาสาสมัครร่วมมือ ๓) กลไกลที่เป็นระบบ และ ๔) การสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานระดับท้องถิ่น ๕) การกำหนดกรอบคุณวุฒิท้องถิ่น ๖) การผสานความรู้แบบศาสตร์ทันสมัย เข้ากับเทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน และ ๗) มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องทำหน้าที่ผสานความรู้สองกระแส

.

 

ระยะที่ ๔ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น ข้อเสนอแนะด้านพันธกิจ ควรพัฒนาหลักสูตรเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ผลผลิตที่ตรงและเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตร เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ข้อเสนอแนะด้านการวิจัย ควรกำหนดจุดเน้นด้านงานวิจัยที่ตอบโจทย์เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงทรัพยากรพื้นถิ่น และความต้องการของท้องถิ่น โดยใช้ความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นหลักในการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะต่อยุทธศาสตร์ ควรวิเคราะห์ความเชี่ยวชาญ และความโดดเด่นทางวิชาการที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทของสถาบัน นำมากำหนดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสามารถชี้นำสังคม ฯลฯ หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะโดย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.​ภาสกร นันทพานิช รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการอภิปรายโดย ดร. พัชรี สุเมโธกุล ผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มรภ. นครศรีธรรมราช

.

.
ในช่วงบ่าย มีการนำเสนอ (ร่าง) รายงาน "มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น" (๑๐ ราชภัฏ ๑๐ วิสาหกิจชุมชน) โดย คณะวิจัยจากสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. ปรากฎสาระที่น่าสนใจดังนี้ การวิจัยครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๔ ภูมิภาคของประเทศ จำนวน ๑๐ แห่ง และวิสาหกิจชุมชนดีเด่นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลงไปพัฒนา จำนวน ๑๐ แห่ง ได้แก่ ๑) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีปัจจัยความสำเร็จดังนี้ เป็นเสาหลักพึ่งพิงได้ สร้างความเข้าใจถึงเป้าหมายเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจ ผลเชิงประจักษ์ หนุนเสริมการทำงานในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และพัฒนากลไกการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นระบบ ๒) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีปัจจัยความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และชาวบ้าน ๓) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ ความเข้มแข็งของคณาจารย์ เทคโนโลยี/นวัตกรรมท้ันสมัย ชุมชนให้ความร่วมมือและพร้อมเปลี่ยนแปลง ๔) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ เครือข่ายเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก ผู้นำเข้มแข็ง และชุมชนเปิดใจ/ไว้ใจ ๕) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ อาจารย์และนักศึกษาเข้ากับชุมชนได้ดี ได้รับการยอมรับและไว้วางใจ การดำเนินการมีความต่อเนื่อง วิสาหกิจชุมชนมีการตั้งใจจริงและมุ่งมั่น และผู้นำเข้มแข็งและมีเครือข่าย ๖) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีปัจจัยวามสำเร็จ ได้แก่ ผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์ เข้มแข็ง เป็นศูนย์รวมของชุมชนได้ ผู้นำท้องถิ่นเห็นความสำคัญให้ความร่วมมือ ภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน และชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ๗) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ ความเชี่ยวชาญของอาจารย์เกิดเป็นความศรัทธาให้กับชุมชน เครือขายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ และความร่วมมือของคนในชุมชน ๘) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ กระบวนการพัฒนาให้ชุมชนรู้ความต้องการ จุดแข็ง/จุดอ่อน การถ่ายทอด know - how ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เครือข่ายทางสังคม ๙) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ แผนการดำเนินงาน และระบบติดตามการดำเนินงานชัดเจน สร้างแรงจูงใจให้อาจารย์โดยผูกเป็นภาระงาน มีผลต่อเงินเดือน และความต่อเนื่องไว้วางใจระหว่างมหาวิทยาลัยและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ ๑๐ )มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ เข้าใจบริบทการทำงานกับชุมชน การบูรณาการการทำงานระหว่างคณะและเครือข่ายในพื้นที่ ชุมชนกละกลุ่มวิสาหกิจมีความร่วมมือร่วมใจ ผู้นำให้ความสำคัญ
.


ข้อเสนอแนวทางพัฒนา ได้แก่ ๑) มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน ในลักษณะจตุภาคี เป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคน ๒) สร้างภาคีถ่ายทอดองค์ความรู้ และ ๓) ควรมีเวทีนำเสนอผลงานและการเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีระหว่างเครือข่ายและคลัสเตอร์ของวิสาหกิจชุมชน วิธีที่จะนำไปสู่การเติบโตจะต้องพัฒนาเครือข่ายและคลัสเตอร์วิสาหกิจชุมชน ส่งเสิรมให้มีการพัฒนาสู่การจดลิขสิทธิบัตร และเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ได้แก่ ต้องทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบที่ส่งเสริมและเอื้อต่อการทำงานและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ความสามารถทางภาษาอังกฤษ และกฎหมาย เพื่อการต่อยอดไปสู่การเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับตลาดต่างประเทศ
.

 

หลังจากนั้นมีการอภิปรายผลและให้ข้อเสนอแนะโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายบรรพต มามาก ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ดร.พัชรี สุเมโธกุล ผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และนายทักษิณ หมินหมัน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษณ์ป่าชายเลยบ้านแหลมโฮมสเตย์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ดำเนินการอภิปรายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล ยงศร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

.

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดโดย สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล และข้อค้นพบที่ได้นำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายทางการศึกษา เพื่อบรรบุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด