สกศ. เปิดผลวิจัย ชี้ทางเสริมความสามารถพิเศษผู้เรียนสู่ระดับนานาชาติ เริ่มที่สร้างความเป็นเลิศให้ครู ดันใช้หลักสูตรอิสระแบบ Education Sandbox

image

วันนี้ (๖ กันยายน ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธาน “การประชุมนำเสนอรายงานวิจัยตามโครงการพัฒนานโยบายและองค์ความรู้ด้านการศึกษานานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ” โดยมี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ (นายปานเทพ ลาภเกษร)  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา (ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์) นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
.


 

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สกศ. เป็นเข็มทิศทางการศึกษา ที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยเป็นฐาน ผสานประสบการณ์การเรียนรู้ เช่นเดียวกับการประชุมในครั้งนี้ที่จะช่วยเผยแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของ ๕ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดย สกศ. จะนำมาส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ คือ ผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม พร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
.


 

จากนั้น ที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) รายงานวิจัย เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้วิจัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ที่ปรึกษาโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และนางสาวนวรัตน์ อินทุวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย พสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมให้ข้อคิดเห็น เพื่อเติมเต็ม (ร่าง) รายงานวิจัยให้สมบูรณ์
.


สำหรับ (ร่าง) รายงานวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นแนวสร้างสู่ความสำเร็จของการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ คือ ต้องกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังคนของประเทศและมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน โดยพัฒนาความสามารถพิเศษสำหรับผู้เรียนทั้งโรงเรียน (Schoolwide Enrichment Program) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการผลิตครูแบบ Non-Degree เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาจัดการเรียนการสอน และมีความยืดหยุ่นในด้านหลักสูตรตามแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) ซึ่งอาจเพิ่มการสร้างความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ เพื่อต่อยอดการพัฒนาความเป็นเลิศของผู้เรียนสู่ระดับนานาชาติได้ 
.


 

สิ่งที่น่ากังวลคือ ความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติทั้งด้านทรัพยากรและความหลากหลายในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ควรร่วมในระบบพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ (Mentoring) เพิ่มแหล่งเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถพิเศษให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเอง พร้อมทั้งดูแลสุขภาพจิตให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและอาจขยายผลการศึกษาไปสู่ผู้เรียนระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด