สกศ.ย้ำความสำคัญระบบฐานข้อมูล ยกระดับการศึกษาด้วยการประเมินคุณภาพข้อมูล บรรลุ SDG๔

image

วันนี้ (๖ กันยายน ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง การประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศ (Thailand Ed-DQA) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG๔) โดยมี เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook Fanpage ภายใต้ชื่อ "OEC News สภาการศึกษา"

.
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สกศ. มีบทบาทสำคัญในการเป็นเข็มทิศเพื่อชี้ทิศทางการศึกษาของประเทศ เข็มทิศดังกล่าวจะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยฐานข้อมูลทางสถิติที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลา ในปัจจุบันพบว่าข้อมูลทางการศึกษามีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงต้องมีการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา โดย สกศ. นำแนวทางของ UNESCO มาประยุกต์ใช้ จากกระบวนการจัดทำข้อมูล ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวมข้อมูล การประเมินผล และการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้เกิดการพัฒนากลยุทธ์ในการปรับปรุงสถิติด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของประเทศในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการยกระดับและพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) เป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยเปรียบเทียบนานาชาติได้ต่อไป
.
ด้าน ดร.ช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UIS) จัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดตามแบบจัดเก็บของ WEI data collection ภายใต้โครงการ World Education Indicators ที่จำแนกการศึกษาตามมาตรฐานสากล ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ 
.
"การจัดประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นในการประเมินคุณภาพข้อมูลการศึกษาของประเทศไทย และผลการจัดอันดับการศึกษาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่มีคุณภาพของประเทศไทย" ดร.ช่อบุญ กล่าว
.
 นายภานุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา นำเสนอผลการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย ปรากฎสาระที่น่าสนใจ ดังนี้ การประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา เป็นการประเมินเชิงลึกของกระบวนการทางสถิติ ตั้งแต่การรวบรวม การจัดทำข้อมูลตามระเบียบทางสถิติ แลละการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการจัดทำสถิติทางการศึกษา โดยดำเนินการประเมินการปฏิบัติงานของแต่ละประเทศเปรียบเทียบภายใต้กรอบการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากล ประกอบด้วย ๓ แนวคิดหลัก  ๘ หลักการ ๒๑ ตัวชี้วัด ๔๖ รายการ เป้าหมายคือในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ประเทศไทยร่วมกับ UIS Bangkok ในการประเมินคุณภาพข้อมูลเพื่อการรับรองมาตรฐานในระดับสากล
.
"ข้อค้นพบจุดแข็งของประเทศไทย มีดังนี้ ๑) กฎหมายหรือระเบียบให้อำนาจหน่วยงานกลาง ส่วนภูมิภาค และจังหวัดทำหน้าที่กำกับและดูแลบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการศึกษา ตลอดจนการทำ MOU กับหน่วยงานภายนอก ๒) ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้าน Hardware Software และระบบต่างๆ ในการบริหารจัดการข้อมูและสารสนเทศทางการศึกษา ๓) มีการกำหนดมาตรฐานกลางข้อมูล รายการจัดเก็บข้อมูล และแผนการดำเนินงานด้านการศึกษาที่ชัดเจนในแต่ละปีการศึกษา และ ๔) มีการจัดทำ Data Mapping ในการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา" นายภานุพงศ์ กล่าว
.
นอกจากนี้ ในช่วงเช้ามีการเสวนาเรื่อง "ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย Mr.Roshan Bajracharya, Senior Regional Advisor UNESCO Bangkok นายอนุสรณ์ ลัภนะก่อเกียรติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร นายอิทธิกร ช่างสากล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสะท้อนมุมมองและข้อเสนอแนะที่หลากหลาย อาทิ ปัจจุบันข้อมูลไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันเวลา ต้องเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จจากประเทศต่าง ๆ โดยมี UNESCO ให้คำแนะนำ ควรนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด บุคลาการที่ทำงานด้านข้อมูลต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การเก็บข้อมูลไม่ควรเป็นภาระของผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่านั้น คุณภาพข้อมูลจะเกิดขึ้นได้เมื่อถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดการพัฒนา ควรมี Application ระบบเปิด เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้แต่ต่อยอดในการทำงานของแต่ละภาคส่วน  ควรร่วมกันจัดทำคำนิยาม ตัวชี้วัด และบัญชีข้อมูลให้มีความชัดเจน ควรผลักดันมาตรฐานหรือคู่มือให้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไป ฯลฯ
.
สำหรับในช่วงบ่ายยังมีการนำเสนอผลการจัดอันดับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG๔) ปี ๒๐๒๒ สาระสำคัญมีดังนี้ เป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวชี้วัดการศึกษาที่ใช้ในการจัดอันดับโลก ประกอบด้วย ๔ ตัวชี้วัด ได้แก่ อัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับประถมศึกษา อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อัตราการอ่านออกเขียนได้ และอัตราการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเป็นระบบในระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับการจัดอันดับจากผลรวมคะแนนทั้ง ๔ ตัวชี้วัดของประเทศไทยในปี ๒๐๒๒ ระดับภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๔ ซึ่งสูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่มีอันดับต่ำกว่าประเทศบรูไน เวียดนาม และสิงคโปร์
.
หลังจากนั้น มีการการเสวนาเรื่อง "การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG๔) ของประเทศไทย" โดย Mr.Roshan Bajracharya, Senior Regional Advisor UNESCO Bangkok ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และนางสาวบุศรา แสงอรุณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์และพยากรณ์สถิติเชิงสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ
.
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อค้นพบที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ นำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป
 
 
รูปข่าวเพิ่มเติมติดตามได้ที่ Facebook ข่าวสภาการศึกษา :https://www.facebook.com/media/set/?set=a.8346525578692628&type=3

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด