สกศ. ลงพื้นที่รับฟัง-เก็บข้อมูลเชิงลึก

image

วันนี้ (๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาวการณ์ทางการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ กลุ่มจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ กรรมการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.จุไรรัตน์ แสงบุญนำ) ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.ชวลิต โพธิ์นคร) อดีตผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวขนิษฐา ห้านิรัติศัย) และผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กว่า ๑๓๐ คน ณ โรงแรม ณ เวลา จังหวัดราชบุรี

.

 

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ยุค BANI World  การศึกษาสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่มีคุณภาพ รองรับ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศีกษา (สกศ.) จัดทำรายงานสภาวะการศึกษาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศ สำหรับเวทีนี้จะเป็นเวทีในการรับฟังและแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาต่อยอดรายงานสภาวะการศึกษาไทยให้สามารถตอบสนองการจัดการศึกษาในทุกพื้นที่ของประเทศ อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดทำนโยบายทางการศึกษาจาก One Size Fitted Education เป็น Tailor-Made Education ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ดำเนินการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาวการณ์ทางการศึกษาเชิงพื้นที่ดังกล่าว จัดมาแล้ว ๒ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๑ จัดที่จังหวัดระยอง ครั้งที่ ๒ จัดที่จังหวัดปราจีนบุรี และครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ กลุ่มจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ในระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ จัดที่จังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวการณ์การศึกษา อีกทั้งยังต้องการพัฒนาต่อยอดการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทั้งการวิเคราะห์ในระดับมหภาคในภาพรวม และระดับจุลภาคโดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำรายงานสภาวการณ์การศึกษาเชิงพื้นที่ และข้อเสนอในการยกระดับการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาต่อไป

.

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย จำแนกตามจังหวัด (จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม) เพื่อวิเคราะห์ความท้าทาย เป้าหมาย และประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะการศึกษาไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้ ๑) การจัดการศึกษาภายใต้แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ซึ่งทำให้เกิดทั้งวิกฤตและโอกาสทางการศึกษา นอกจากจะทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่มีผลให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรได้รับการพัฒนาหายไป ยังทำให้เห็นถึงศักยภาพของครูผู้สอนในอีกมิติที่ต้องพัฒนาและปรับตัวเองด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใชัในการจัดการเรียนการสอนด้วย ๒) หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เช่น พื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก การจัดการศึกษาหรือการผลิตกำลังคนต้องตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถเข้าสู่โลกของการมีงานทำ สามารถแก้ปัญหาการว่างงานได้ ๓) การบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาบุคลากรต้องมองที่เป้าหมายเป็นสำคัญ

.

 กลุ่มย่อยจำแนกตามประเภทกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มผู้บริหารการศึกษา กลุ่มผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา) เพื่อวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พบข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ดังนี้ ๑) ควรลดนโยบายและโครงการ เพื่อเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน ๒) การประเมินครูควรประเมินที่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๓) ควรปรับหลักสูตรให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ๔) การสร้างสื่อการเรียนการสอนโดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ๕) ผู้บริหาร ครู ผู้เรียน จะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลง ๖) ควรส่งเสริมทักษะชีวิตในแต่ละช่วงวัย และออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงวัย ๗) ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

.

ในระหว่างวันที่ ๓๐ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ มีการลงพื้นที่โรงเรียน ๒ แห่ง ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านสภาวการณ์ทางการศึกษา ได้แก่ ๑) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ๒) โรงเรียนราชโบริกานะเคราะห์

 .

สำหรับ การลงพื้นที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาวการณ์ทางการศึกษาเชิงพื้นที่ จัดโดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา  ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะที่ได้รับเพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด