สกศ. ฟังเสียงสะท้อนปัญหา เปิดปมความท้าทายสภาวการณ์ศึกษาไทยพื้นที่ภาคตะวันออก

image

วันที่ (๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕) ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาวการณ์ทางการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้แทนองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ดร.สุกิจ อุทินทุ อดีตกรรมการสภาการศึกษา พร้อมด้วยคณะทำงานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง

นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา กล่าวเปิดว่า สกศ. จัดทำรายงานสภาวการณ์ศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา และแนวโน้มทิศทางการจัดการศึกษาให้หน่วยงานใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภูมิภาคตะวันออกในครั้งนี้ เพื่อสำรวจข้อมูลและศึกษาความต้องการของหน่วยงานที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ สรุปผลเป็นข้อเสนอในการยกระดับการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา

ประเด็นสำคัญในการประชุมกลุ่มย่อยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อศึกษาความท้าทายและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาในช่วงปี ๒๕๖๕ มากที่สุด สาเหตุหลักยังคงเป็นผลกระทบจากแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้(Learning Loss) เป็นภาวะของการเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยหายไป เช่น ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านความสัมพันธ์การเข้าสังคม และการอ่าน เขียน ซึ่งแนวทางการฟื้นฟูที่หน่วยงานระดับพื้นที่ต้องการ คือ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจ้างบุคลากรครบทุกกลุ่มสาระ และต้องการผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนกับผู้ประกอบการในตลาดแรงงานของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในขณะเดียวกันหน่วยงานระดับพื้นที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัดและตามความพร้อมของสถานศึกษา เพื่อตอบโจทย์แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้

ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ เปิดมุมมองจากผลสำรวจขององค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ด้านการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี โดยครึ่งนึงของเด็กเล็กทุกภาคมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของเล่น มากที่สุดในกรุงเทพมหานครร้อยละ ๕๖ และภาคกลางรองลงมา ร้อยละ ๕๕ และมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๖ เดือน ที่ได้รับนมแม่เพียงร้อยละ ๑๔ จากเด็กเล็กทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จะต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ถึง ๖ ปี เป็นช่วงเวลาคุ้มค่าที่สุด เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ สกศ. เดินทางเก็บข้อมูลเชิงลึกจากสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง (RAYONG INCLUSIVE LEARNING ACADEMY : RILA) ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เพื่อรวมรวบประเด็นปัญหาอุปสรรค และวิธีการนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งสถาบันดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมคนเรียนและคนสอน รวมถึงสังคมรอบด้านเข้าด้วยกัน และเป็นกลไกสนับสนุนการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ผ่านกลไกจังหวัด รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพลังความร่วมมือในการจัดการศึกษา สร้างระยองเมืองน่าอยู่ "เท่าเทียม ทั่วถึง เท่าทัน สมดุล" เป็นต้นแบบของการผลิต พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยมีข้อสรุปว่าหน่วยงานมีความต้องการให้ สกศ. เสนอนโยบายเพิ่มอัตราบรรจุครูในพื้นที่จังหวัดที่มีความพร้อมจัดการศึกษาด้วยตนเองหรือพื้นที่นวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้พัฒนาจังหวัดของตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งปลดล็อกกฎหมายการบริหารงบประมาณบุคลากร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จากเดิมใช้งบประมาณจ้างเหมาครูตามระเบียบพัสดุ ให้เข้าสู่ตำแหน่งบรรจุเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการจัดการศึกษา และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

การลงพื้นที่ภูมิภาคตะวันออก ได้รับข้อเสนอแนะเพื่อใช้จัดทำ “รายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาเชิงพื้นที่” สามารถเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษาระดับพื้นที่ได้อย่างตรงประเด็น เปลี่ยนนโยบายการศึกษาจาก One Size Fitted Education สู่การศึกษาแบบ Tailor-Made Education ทั้งนี้ สกศ. เตรียมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นกลุ่มจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด