ส่งท้าย OEC Forum ๒๕๖๕ สกศ. ต่อจิ๊กซอว์สมรรถนะเด็กไทย ขยับอันดับในเวทีโลก

image

วันนี้ (๘ สิงหาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ OEC Forum ครั้งที่ ๕/๒๕๖๕ เรื่อง “สมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดยมีที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ Dr. Ethel Agnes P. Valenzuela Director of the SEAMEO Secretariat ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ณ ห้องประชุมคริสตัล ๓-๔ ชั้น ๓ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ YouTube ภายใต้ชื่อ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา” ร่วมแชร์

.

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันโลกก้าวผ่าน VUCA World เป็น BANI World ซึ่งเป็นโลกแห่งความเปราะบาง ประกอบกับอัตราการเกิดใหม่ลดลง ดังนั้นการศึกษาต้องตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก Generation ใหม่ ควบคู่กับความต้องการกำลังคนของประเทศ สกศ. มุ่งเน้นชี้ทิศการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องความแตกต่างตามบริบทของพื้นที่ เพื่อออกแบบผู้เรียนให้มีทักษะความถนัดตามที่โลกยุคใหม่ต้องการ และการสัมมนาวิชาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นกลไกหนึ่งเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอแนะ มุมมองในระดับพื้นที่จากทุกภาคส่วนเป็นนโยบายการศึกษาที่ชี้แนวโน้มทิศทางการศึกษาของประเทศในอนาคตได้

 “ข้อมูลผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า IMD ด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ ๕๓ จากเดิมอยู่ที่อันดับ ๕๖ ในปี ๒๕๖๔ และเป็นอันดับดีที่สุดในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาการศึกษาไทยในเวทีโลก และสกศ. พร้อมให้ข้อมูลการจัดการศึกษากับหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อรับการประเมินศักยภาพด้านการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่อง” ดร.อรรถพล กล่าว

.

การบรรยายพิเศษหัวข้อพัฒนาทุนมนุษย์อย่างไร ประเทศไทยจึงหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลางกว่า ๔๕ ปี เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างตลาดแรงงานที่ไม่สัมพันธ์กับโครงสร้างการจ้างงาน ทางออกของปัญหาคือยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ความท้าทายของหน่วยงานทางการศึกษาคือต้องวางรากฐานการศึกษาที่สอดคล้องกับทักษะใหม่ตามช่วงเวลาให้ทัน และเตรียมกำลังคนให้เก่งกว่าเดิม เพื่อปิดปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gaps) และแข่งกับเวลาที่เทรนด์ของโลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม ๒๐ เท่า

.

คนไทยต้องมีสมรรถนะอย่างไร แง่มุมแนวคิดจากการบรรยายพิเศษโดย นายอนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบนซ์ บีเคเค วิภาวดี จำกัด กล่าวว่า นอกจากโรงเรียนเป็นผู้สร้างคนแล้ว ในฐานะผู้ประกอบการก็เป็นองค์กรสถานศึกษาผู้สร้างคน สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อส่งเสริมให้แรงงานเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ (Certify People) และทำงานด้วยการเรียนรู้ในทุกวัน ด้วยปัจจัยความสำเร็จ ๓ Global คือ ๑. Global Citizen ๒. Global Skills และ ๓. Global Language นอกจากนี้ สมรรถนะที่จำเป็นของผู้เรียนต้องสร้างทักษะความใฝ่รู้ ส่งเสริมการอบรมเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Up-Skills) เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี ฉลาดในการสื่อสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเตรียมเข้าสู่วัยแรงงาน ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดจากการเสวนา สกศ. จะใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด