สกศ. เปิดเวทีเสวนา กระจายอำนาจอย่างไร ให้สถานศึกษาได้ความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

image


วันนี้ (๔ สิงหาคม ๒๕๖๕) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การศึกษามาตรฐานและรูปแบบของการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน” โดยมี ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศิริพันธ์ุ) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ 

 

 

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานมีใจความตอนหนึ่งว่า กระแสแห่งการกระจายอำนาจทางด้านการปกครองผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ การศึกษา ซึ่งได้บรรจุประเด็นการกระจายอำนาจไว้ในนโยบายและกฎหมายการศึกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุน Education Sandbox หรือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำร่องทดลองการกระจายอำนาจ ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ งานบุคคล และการบริหารทั่วไป ให้สถานศึกษาได้บริหารงานอย่างอิสระ จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ซึ่ง สกศ. ได้จัดทำขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดผลร่างรายงานการวิจัยที่ สกศ. ได้ร่วมกับ ดร.วิศรุต สำลีอ่อน และทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ลงพื้นที่ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการบริหารจัดการศึกษาในจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรม ๔ ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดระยอง สตูล ศรีสะเกษ และเชียงใหม่ ซึ่งพบว่า สถานศึกษาก็ยังไม่มีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากยังเป็นการกระจายอำนาจแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยมีข้อกังวลถึงการออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่ยึดถือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมากเกินไป การอนุมัติสั่งจ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรยังไม่สามารถดําเนินการข้ามหมวดหมู่ได้ รวมถึงสถานศึกษายังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการพัสดุ บัญชี และการเงิน จึงเกิดภาระงานอื่นที่ทําให้ครูไม่มีเวลาพัฒนาคุณภาพการสอน 

 

ทีมวิจัยได้ร่วมกันเสนอนโยบายเพื่อไขปัญหาดังกล่าว โดยควรแยกงบประมาณค่าสาธารณูปโภคของสถานศึกษา (Fixed Cost) ออกจากค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดการเรียนการสอน ปรับแนวทางพิจารณางบประมาณที่จะจัดสรรให้สถานศึกษาแต่ละแห่งที่ไม่ผูกติดกับอัตราเงินอุดหนุนรายหัว แต่อิงตามความจําเป็นในแผนงบประมาณที่สถานศึกษาเสนอ พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการและระดมทรัพยากรให้เข้าถึงสถานศึกษาในพื้นที่ 

 

นอกจากนี้ ลงพื้นที่วิจัยยังทำให้ได้ค้นพบแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโรงเรียนต่าง ๆ ที่สามารถนำไปขยายผลได้ อาทิ การออกแบบหลักสูตรที่ตอบสนองต่อนโยบายของจังหวัดและเน้นอัตลักษณ์ของสถานศึกษา การใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) และสื่อดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยลดการใช้จ่ายงบประมาณด้านหนังสือ และนำไปจัดซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนสูงสุด 

 

จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาร่างวิจัยดังกล่าว นำโดย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร  นิยม - อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา - อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดร.พิทักษ์  โสตถยาคม - ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. และ ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ - อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง สกศ. จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงแนวทางกระจายอำนาจให้สามารถให้ความเป็นอิสระแก่สถานศึกษาโดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละจังหวัด ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด