สกศ.เปิดวงวิชาการภาคตะวันออก “ทำวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก” โชว์โมเดลวิจัยใช้ได้จริง

image

วันนี้ (๓ สิงหาคม ๒๕๖๕) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการระดับภูมิภาค : การวิจัยทางการศึกษา (ครั้งที่ ๔) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา (ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์) และคณะทำงานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เครือข่ายวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดระยอง โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook Live : OEC News สภาการศึกษา
.


 

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดว่า สกศ. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการศึกษา โดยใช้การวิจัยเป็นฐานช่วยพัฒนาแนวคิดสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์กับทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันได้ตระหนักถึงการสร้างเครือข่ายให้นักวิจัยได้บูรณาการการทำงานระดับภูมิภาค แลกเปลี่ยนงานวิจัยและนวัตกรรมระหว่างสถาบัน เพื่อศึกษาปัจจัยที่ประสบความสำเร็จร่วมกัน นำไปสู่การผลิตผลงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริง
.


 

ประเด็นสำคัญจากการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้จริง” โดย รศ.ดร.อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกูล อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุดประกายแนวคิดการสร้างผลงานวิจัยตั้งแต่การกำหนดชื่อเรื่องให้เชื่อมโยงคำสำคัญ (Keyword) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ความแตกต่างของช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ทำให้การวิจัยร่วมสมัย แปลกใหม่และน่าสนใจ
.


นอกจากนี้ได้เสริมเกร็ดความรู้ ๓ หัวใจหลักวิจัยด้านการจัดการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เพิ่มขึ้น แต่ควรเชื่อมโยงด้านองค์ความรู้ (Cognitive) ด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affective) และด้านจิตวิทยา (Psychomotor) เพื่อให้การวิจัยสร้างความเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับใช้กับผู้เรียนได้ดีขึ้น รวมทั้งแนะนำประเด็นการวิจัยที่กำลังได้รับความสนใจ เช่น UX Research หรือ User Experience Research คือ การวิจัยเพื่อศึกษาเป้าหมายของผู้ใช้งานอย่างเป็นระบบ ทำการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมตามที่ผู้ใช้งานต้องการ เป็นต้น
.

การเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้นถึงการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติ โดย ดร.กนก จันทรา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กัมพล เจริญรักษ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๒ ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์ โรงเรียนราชินีบน ว่าที่ ร.ต.ดร.ฐิติพงศ์ ปัญญาคำ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ยกตัวอย่างผลงานวิจัยให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ได้ศึกษาวิธีการสู่ความสำเร็จ  สามารถใช้ได้จริงเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ อีกทั้งมีไฮไลต์เผยแพร่ผลงานวิจัยจาก สกศ. และผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในการประชุมทางวิชาการวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ ๑๖ "นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษไทย" (OEC Symposium) รวมถึงผลงานจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ พร้อมให้คำปรึกษาในคลินิกวิจัย โดย รศ.ดร.มารุต พัฒผล และ ผศ.ดร.จตุพล ยงศร จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้กับนักวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานสู่การปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สกศ. เตรียมจัดเวทีสัมมนาวิชาการครั้งสุดท้าย ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา เดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด