สกศ. เปิดเวทีสัมมนากฎหมายการศึกษา ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

image

วันที่ ๒๑  มิถุนายน ๒๕๖๕ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)จัดประชุมสัมมนา เรื่อง  การส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ ๓ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล  สังขวาสี) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักกฎหมายการศึกษาของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ร่วมประชุม ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษา และเป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งประสานเร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายการศึกษาที่หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบอีก จำนวน ๑๑ ฉบับ จากความสำเร็จที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี ๒๕๖๕ โดย IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับของประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๕๓ ของโลกและเป็นอันดับที่ ๓ ของอาเซียน ซึ่งเป็นรองจากประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาในส่วนนี้ดีขึ้นมาก ดังนั้น กลไกการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา เช่น กฎหมายการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ ควรประกอบด้วย นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาดำเนินการในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการจัดทำ Big Data ทุกด้านของกระทรวงศึกษาธิการต้องชัดเจน เพื่อสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างชัดเจน สู่การพัฒนาการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงกระจายอำนาจให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่รับผิดชอบทางการศึกษา และให้อิสระกับสถานศึกษา เพื่อให้สอดรับกับบริบทของแต่ละจังหวัด โดยระดับของนโยบายส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลหรือวางพิมพ์เขียวไว้เป็นต้นแบบ เพื่อกำหนดเป้าหมายการศึกษาที่ชัดเจน และขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

 

 

ช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสมพงษ์ ผุยสาธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา เป็นวิทยากร อภิปรายเรื่องร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....

 

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ กล่าวถึง ความก้าวหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๑๑ ฉบับ ว่า การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาเป็นภารกิจที่สำคัญ และเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ต้องให้มีการประกาศใช้กฎหมายการศึกษา เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แม้จะมีกระบวนการที่ต้องรับฟังจากทุกฝ่ายและใช้เวลาก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมายและบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษา การที่จะให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญจะต้องประสานสร้างความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้การพัฒนาด้านการศึกษาบรรลุตามหลักการที่สำคัญตามมาตรา ๖ การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคคล  และมาตรา ๗  ที่กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ไว้เพื่อให้บุคคลได้พัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่ดี และความก้าวหน้าของกฎหมายสำคัญที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทย  

 


นายสมพงษ์ ผุยสาธรรม กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย คือ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง อันเนื่องจากรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งจาก ๑) กระแสการปฏิรูปการศึกษาของสังคมโลก ๒) ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ๓) ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา ๔) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร และ ๕) การบริหารจัดการการศึกษาภายในประเทศที่ยังไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาคนในระดับช่วงวัยต่าง ๆ ดังนั้น ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มทักษะแห่งอนาคตในแต่ละช่วงวัยให้เหมาะสม   เช่น

๑. ช่วงปฐมวัย  (๐ - ๕ ปี) ต้องมีทักษะ ดังนี้  ๑) การคิดเชิงสร้างสรรค์ ๒) ความอยากรู้อยากเห็น ๓) ความสามารถทางกายภาพ เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร  เป็นต้น ๔) การอ่านออกเขียนได้ ๕) ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และการเข้าใจผู้อื่น

๒. ช่วงวัยเรียน /วัยรุ่น (๕ - ๒๑ ปี) ต้องมีทักษะ ดังนี้  ๑) ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ๒) การอ่านออกเขียนได้ ๓) การเป็นผู้เรียนเชิงรุก ๔) การเป็นพลเมืองที่ดี ๕) ความอยากรู้อยากเห็นและการคิดเชิงสร้างสรรค์  

3. ช่วงวัยแรงงาน (๑๕ - ๕๙ ปี) ต้องเสริมสร้างความต้องการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

4. ช่วงวัยผู้สูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป) ส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ สนับสนุนการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและชุมชน

 

ทั้งนี้ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. วางแผนส่งเสริมความรู้ต่อเนื่องในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ เกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางคอมพิวเตอร์  กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปราบการทุจริต กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทางปกครอง และร่างพระราชบัญแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรของกระทรางดิจิทัลฯ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

 

 

ภาพและข่าวเพิ่มเติม Facebook Fanpage ข่าวสภาการศึกษา >>

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=OECCHANNEL&set=a.7985588004786389

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด