สกศ. เปิดเวที OEC FORUM ครั้งที่ ๒ Future Education For Future Career : เชื่อมโยงการศึกษายุคใหม่ สู่โลกแห่งการทำงานในอนาคต

image

วันนี้ (๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เรื่อง Future Education For Future Career โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางประวีณา อัสโย) พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน ครู นักเรียน และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ Youtube ภายใต้ชื่อ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา” ร่วมแชร์

 

 

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานความสำคัญตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง (VUCA World) จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นปัจจัยเร่งที่เข้ามาเปลี่ยนความคุ้นเคยของชีวิต เช่นเดียวกับการศึกษาออนไลน์ที่กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ของนักเรียนทั่วโลก รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้นำไปสู่สมรรถนะและอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการศึกษาจะต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลาย และสร้างผู้เรียนสู่การเป็นนวัตกรของประเทศ 

 

สกศ. ในฐานะองค์กรหลักในการวางแผนการศึกษาของชาติ ได้ผลักดันการสร้างพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Skill Mapping) ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดของตนเอง โดยกำหนดเป้าหมาย “เด็กไทย 2025 เพื่อเศรษฐกิจไทย” และยึดโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ SDGs ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างสมดุลใน ๓ มิติระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
.
“บทบาทความเป็นเข็มทิศทางการศึกษาของ สกศ. นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยเป็นฐาน จะต้องผสานความคิดและประสบการณ์จากนักเรียน คุณครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา (Stakeholder) เชื่อว่า การประชุม OEC Forum ครั้งนี้ จะเป็นการหลอมรวมองค์ความรู้จากทุกส่วน เพื่อสร้างผลลัพธ์สู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

 

 

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด บรรยายเรื่อง Future Education in the Disruptive World โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วม World Economic Forum (WEF) หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ผู้นำทั่วโลกให้ต่างจับตามองในขณะนี้คือ การสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักดันให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการศึกษาที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันสร้าง “Open Education Platform” แพลตฟอร์มการศึกษาให้เป็นระบบเปิด ทั้งเปิดกว้างในการเข้าถึง และเปิดกว้างด้านเนื้อหา หรือ คอนเท้นต์(Content) ที่ไม่จำกัดด้วยวุฒิการศึกษา แต่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ สามารถเข้ามาสร้างคอนเท้นต์การเรียนรู้ที่มีประโยชน์ และแข่งขันการสร้างคอนเท้นต์คุณภาพให้ได้รับความนิยมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ๒ เรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้ประชาชนเข้าใช้ง่ายได้ฟรี คือ ๑) Connectivity – สัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน นำไปสู่โลกการเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) ให้กำลังคนมีสมรรถนะที่ทันสมัยและตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ ๒) Digital ID – ระบบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับบริการทางสังคม ครอบคลุมทั้งมิติการเงิน สุขภาพ และการศึกษา โดยภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมหาแนวทางลดต้นทุนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการคุณภาพอย่างเท่าเทียม

 

 

 

 

หลังจากนั้น มีการเสวนา เรื่อง “Education Start Up : Tools for enhancing Quality and Competitiveness” โดย คุณชื่นชีวัน อานันโทไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง Globish Academia (Thailand) Co.,Ltd. คุณนัททินี แซ่โฮ  ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท Venture Lead @ Edtech Asia และคุณพิเชษฐ์ เตชะธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท Monkey Everyday จำกัด ดำเนินรายการโดย  นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา สกศ.

 

 

วิทยากร นักเรียน และคุณครูที่เข้าร่วมการประชุม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอุปสรรคและตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาการจัดการศึกษา ด้วยการนำเทคโนโลยีที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยคุณครูในบทบาทผู้ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน (Facilitator) ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อเสนอแนะมาประกอบการจัดทำแนวนโยบายการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับอาชีพในอนาคต และยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศต่อไป 

 

 

 

ภาพเพิ่มเติม Facebook ข่าวสภาการศึกษา
https://web.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.7947429338602256

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด