อรรถพล ร่วมวงถกเวที APREMC II ปรับสมดุลโมเมนตัมการศึกษาไทย เติมสปีดเอเซีย-แปซิฟิกทะยานสู่เป้าหมาย SDGs4

image

วันนี้ (๕ มิถุนายน ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APREMC II) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๔ (การศึกษา ๒๐๓๐) ครั้งที่ ๒ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานการประชุมเชิงวิชาการ (Technical Segment) โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน ๔๖ ชาติ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า ๓๐๐ คน ร่วมการประชุมแบบผสมผสาน Onsite และ Online ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ ฯ  



     ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ UNESCO และได้รับการสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (Unicef) และกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APREMC II ระหว่างวันที่ ๕ - ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕  โดยการประชุมวันแรกเป็นการประชุมเชิงวิชาการ Technical Segment เพื่อนำเสนอสถานะและความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๔ (SDGs 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมเปิดให้มีการอภิปรายของผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญนักวิจัย ฯลฯ ภายใต้หัวข้อย่อยด้านการศึกษามิติต่าง ๆ  



     

     ดร.อรรถพล สังขวาสี กล่าวต่อว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ หรือ SDGs ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำขึ้นมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลใน ๓ มิติระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกื้อหนุนและบูรณาการการพัฒนาระหว่างมิติต่าง ๆ ในรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDR) ปี ๒๕๖๕ ที่เพิ่งเผยแพร่ล่าสุดต้นเดือน มิ.ย.นี้เอง มีการจัดอันดับ SDG Index ของประเทศไทย อยู่อันดับที่ ๔๔ จากทั้งหมด ๑๖๓ ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบในระดับทวีป ไทย รั้งอันดับที่ ๓ ของเอเชีย เป็นรองเพียง ญี่ปุ่น (อันดับ ๑๙) และ เกาหลีใต้ (อันดับ ๒๗) เท่านั้น และ ไทย ยังครองอันดับ ๑ ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ และยังรักษาแชมป์ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นปีที่ ๕ ติดต่อกัน (ปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕)



     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาที่โลกเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ทั่วโลกต่อมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่ง
แวดล้อม รวมถึงความขัดแย้งในภูมิภาค-ภาวะสงครามในยูเครน ล้วนเป็นเหตุชะลอและหยุดยั้งความก้าวหน้าของ SDGs ในหลายเป้าหมาย รวมทั้งในประเด็น SDGs4 เป็นการมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะได้โฟกัสถึงประเด็นความท้าทายของการจัดการศึกษาช่วงหลังวิกฤต Covid-19 นำไปสู่การฟื้นฟูและการจัดการต่อสภาวะวิกฤตการเรียนรู้ การพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษาเพื่อให้มีความเท่าเทียม ครอบคลุม เชื่อมโยง ตอบสนองและยืดหยุ่น ส่งผลต่อศักยภาพของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 



     

     ทั้งนี้ รวมถึงความจำเป็นที่การพัฒนาจะต้องไปให้ถึงกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังสุด (furthest behind) โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตครั้งใหญ่ ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะได้สรุปแนวทางสำคัญและความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการศึกษาที่สามารถตอบสนองความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs4 ภายในปี ๒๕๗๓ 

 



     

     สำหรับการประชุมระดับสูง (High-Level Segment) ระหว่างวันที่ ๖ - ๗ มิถุนายน จะนำเสนอผลลัพธ์จากการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtables) และการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ (Bangkok Statement 2022)

 

 

ภาพและข่าวเพิ่มเติม: Facebook "ข่าวสภาการศึกษา"

https://web.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.7905428932802297

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด