สกศ.-TMA สานพลัง Private Sector ผลิตกำลังคนตรงสเปกงาน อัปขีดความสามารถแข่งขันประเทศไทย

image

 

วันนี้ (๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) เดินทางมาเป็นประธานการประชุม Executive Forum on Competitiveness 2022 "Shaping Future Education" พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องพิมานสยาม โรงแรมดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพมหานคร ภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ร่วมแชร์การถ่ายทอดสดออนไลน์วิถี New Normal ผ่านทาง live Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา 

 

 

สกศ. ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association: TMA) จัดการประชุมขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะด้านการศึกษาของไทยจากผลการจัดอันดับของ International Institute for Management Development หรือสถาบัน IMD สวิตเซอร์แลนด์ และเป็นเวทีที่กระทรวงศึกษาธิการได้สื่อสารทิศทางและความมุ่งมั่นที่หน่วยงานด้านการศึกษาดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้พร้อมสำหรับอนาคตแก่ภาคเอกชนและสาธารณชน  ตลอดจนเป็นเวทีสำคัญของการร่วมมือในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่ออนาคตในมุมมองจากภาคเอกชน

 

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวเปิดงานความสำคัญตอนหนึ่งว่า ศธ. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อเพิ่มอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล ๕ นโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพการศึกษาภายใต้บริบทสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ประกอบด้วย ๑) พาน้องกลับมาเรียน ดำเนินการค้นหาติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (Drop out) ๒) โรงเรียนคุณภาพ ๓) อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ๔) ความปลอดภัยในสถานศึกษา และ ๕) เร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สกศ. และ TMA  จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากลและยกระดับสมรรถนะทางการศึกษา ด้วยการพัฒนาอันดับ IMD ที่ดีขึ้น

 

 

“ดิฉันขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า การพัฒนาการศึกษาของประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมออกแบบระบบการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง ประการสำคัญ พลังการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” รมว.ศธ. กล่าว

 

 

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ปาฐกถาพิเศษ “การจัดการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ” ความสำคัญตอนหนึ่งว่า ต้องขอบคุณ TMA ที่ได้ร่วมมือกับ สกศ. เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อมูลสำคัญในการผลักดันอันดับ IMD ด้านการศึกษาของประเทศไทยที่ดีขึ้นด้วยการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ต้องยอมรับว่าทั้งไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญหน้า VUCA World ในการดำรงตำแหน่ง รมช.ศธ. ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา เห็นว่าภารกิจที่ยิ่งใหญ่คือ การเตรียมเด็กไทย ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญกับ Digital Disruption รวมถึงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และสงคราม ที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา เชื่อมั่นว่ากลไกการเรียน Coding / Unplugged Coding รวมถึง STI (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนอย่างสนุกมีความสุข ผสมผสานกับสะเต็มศึกษา (STEM: วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)) ซึ่งได้เพิ่มวิชาชีวิต (Art of Life) รวมถึงการอ่านและเขียนที่ดีขึ้น จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยมีทักษะแห่งอนาคต สามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน จะช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสู่ตลาดแรงงานต่อไป

 

 

ในการอภิปราย “Demand-Driven and Future-Proof Education: Why and How” เพื่อสังเคราะห์แนวทางต่อยอดคุณภาพการศึกษา สู่การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในอนาคต ปรากฏมิติความคิดที่มีความหลากหลายโดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา สะท้อนมุมมองของ Policy Maker ภาครัฐที่พยายามจับกระแสความต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะตรงกับตลาดแรงงาน สร้างความเชื่อมโยงกับผู้ใช้กำลังคนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (Corporate) ตอบโจทย์โดย คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มเอไอเอสและกลุ่มอินทัช คุณจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ พาร์ทเนอร์กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) คุณธนยศ ครุฑระเบียบ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Material จำกัด (SCG-CBM) สรุปสาระสำคัญสอดคล้องกันว่า ทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สุด คนรุ่นใหม่ต้องมีความรู้ และทักษะทันสมัย (Up-skill / Re-skill / Future skill) สอดคล้องกับตลาดแรงงาน มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคนโยบายการศึกษาและภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม (Private Sector) ต้องร่วมกันออกแบบการจัดการศึกษา และหลักสูตรที่สามารถเพิ่มสมรรถนะในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถทำงานได้ทันที 

 

ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญของ สกศ. คือ การเร่งบูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและกีฬากับการศึกษาทุกระดับ เพื่อจัดทำแผนการศึกษาชาติที่มีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยกำหนดทิศทาง เป็นเข็มทิศการศึกษาและเชื่อมโยงเสาหลักเศรษฐกิจประเทศ กำหนดพิมพ์เขียวในการสร้างมนุษย์หรือแผนที่ชีวิต ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ผลักดันร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อปรับระบบการศึกษา สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก  

“ผมเห็นว่า การเรียนที่มีความสมบูรณ์นั้น คือ การได้เรียนทั้งวิชาชีวิตและวิชาการ ทำกิจกรรมร่วมกัน หลอมรวมวิชาการเข้ากับวิชาชีวิต เพื่อจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์ และเติมเต็มด้วยเทคโนโลยี สามารถคิด วิเคราะห์ไตร่ตรองได้ด้วยตนเอง” ดร.อรรถพล กล่าว

ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังรายการเสวนา ได้ทาง Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา

ภาพและข่าวเพิ่มเติม: Facebook "ข่าวสภาการศึกษา"

https://web.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.7594476567230870

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด