สกศ. เดินหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช พร้อมร่วมขับเคลื่อนงานวิชาการ สนองพระราชดำริฯ ๓๐ ปี อพ.สธ.

image

     วันนี้ (๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ. - สกศ.) ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19)

     ตามที่ สกศ. ได้ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กลุ่มที่ ๒ กลุ่มสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร (G๒) ดำเนินงานตามกรอบของแผนแม่บท อพ.สธ. กรอบที่ ๓ การสร้างจิตสำนึก จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ. - สกศ.) ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) สนองพระราชดำริ โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำและพัฒนาแผนแม่บท สนับสนุนและขับเคลื่อนแผนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชดังกล่าว

     ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังผลการดำเนินในปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา สกศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรมการศึกษาแนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรม ในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้ศึกษาจากศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นจาก ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ และ สกศ. ได้ดำเนินการกิจกรรมการพัฒนาฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย โดยสำรวจ รวบรวมและปรับปรุงฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์แผนไทย และด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม อีกทั้งจัดทำแผนแม่บท อพ.สธ. - สกศ. ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ดำเนินการหลากหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและนวัตกรรมของสถานศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมการทำข้อมูลงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น/ครูภูมิปัญญาไทย

     ก้าวต่อไปในปี ๒๕๖๕ นี้ คณะทำงานมีแผนในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากร วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งมุ่งศึกษาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเสริมสร้างสุขภาพองค์รวม และแนวทางการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สมุนไพรท้องถิ่น โดยเน้นที่กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์ และครูภูมิปัญญาไทยเป็นหลัก และจะดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทยให้มีความทันสมัยและถูกต้อง จำนวน ๕ ด้านเพิ่มเติม ได้แก่ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี และด้านโภชนาการ นอกจากนี้ยังได้วางแผนจัดพิมพ์หนังสือ “แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรม ในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน” จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น

     ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ จะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ ๑๑ ทรัพยากรไทย: ๓๐ ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึกในทรัพยากรท้องถิ่น และเข้าร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อ “ความยั่งยืนของเกษตรกรไทยในโลกแห่งยุค Disruption” โดยมีครูปิยมาศ คเชนทร์กำแหง ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม รุ่นที่ ๗ เป็นผู้ให้ความรู้ในหลักการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด