สกศ. ชี้จุดแข็งสภาวะการศึกษาไทย ไขปม Loss Learning หลัง Covid-19 สร้างเอกภาพเชิงนโยบายต้องยืดหยุ่น-ยึดโยงเศรษฐกิจสังคม

image

 

          วันนี้ (๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เปิดประชุมประเด็น “สภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๔ สู่ความท้าทายและเป้าหมายการศึกษา ปี ๒๕๖๕” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สุกิจ อุทินทุ อดีตกรรมการสภาการศึกษา ดร.อาร์ตี เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ดร.นิพัชชา โรจน์รัตนวาณิชย์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น Saturday School วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุคลากรจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมหารือ ณ ห้องบุษบงกช เอ ชั้น ๒ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)

          ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยจัดการศึกษาในรูปแบบ Formal โดยพบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ขาดแคลนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และยึดหลักสูตรอยู่ที่ศูนย์กลาง (Centralized) ซึ่งเทียบกับการเรียนการสอนต่างประเทศ ใช้ระบบ Home School ผ่านผู้ปกครองเป็นผู้ดูแล จนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสทำให้รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

          ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยชัดเจนว่า ในปี ๒๕๖๔ สถานการณ์ Covid-19 ทำให้กลุ่มเด็ก Gen Z (อายุ ๙-๒๔ ปี) ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในการเรียนออนไลน์ กว่า ๕ ชั่วโมง/วัน ล้มแชมป์กลุ่ม Gen Y (อายุ ๒๕-๔๐ ปี) ที่ครองตำแหน่ง ๖ ปีซ้อน สะท้อนว่ากลุ่มวัยแรงงานและเด็กยุคใหม่ตื่นตัวต่อเทคโนโลยี และอาจมีทักษะเชี่ยวชาญ พร้อมที่จะปรับตัวในการเรียนการสอนนอกห้องเรียน

          ในขณะที่ฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แสดงความกังวลเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล การหยุดชะงักของการเรียน ทำให้ทักษะต่าง ๆ หยุดชะงักไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะจบการศึกษาจากหลักสูตรขั้นพื้นฐานในโรงเรียน แต่ยังขาดทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันและทักษะแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการ

          “รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๔ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เห็นมุมมองการจัดการศึกษาในระดับประเทศ ที่มีทั้งผู้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการศึกษา (Loss Learning) ดังนั้น สกศ. จึงพยายามรวบรวมฐานข้อมูลสำคัญ เป็นแบบแผน (Blueprint) ให้ผู้เรียนได้เห็นโอกาสและอนาคตทางการศึกษาของตนเอง สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัด” ดร.อรรถพล สังขวาสี กล่าว

          ความท้าทายต่อไปของระบบการศึกษา คือ การปรับตัวให้ยืดหยุ่นและยึดหลักความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับนโยบาย เพื่อเตรียมพร้อมกำลังคนวัยเรียน/วัยแรงงานให้สามารถก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่ง สกศ. คาดการณ์แนวโน้มเพื่อพัฒนารูปแบบการศึกษา เช่น ๑) นโยบายที่เป็นธรรมต่อการเข้าถึงการศึกษาในช่วงแพร่ระบาดและหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ๒) นโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กมีศักยภาพในการระดมทรัพยากรด้วยตนเอง และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่เหมาะสมทั้งด้านผลสัมฤทธิ์การเรียนและด้านสุขภาวะ ๓) นโยบายการจัดการศึกษาที่ก้าวสู่การใช้เทคโนโลยีควบคู่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ศึกษาอันดับสมรรถนะในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย ได้ที่ http://imd.onec.go.th/en?fbclid=IwAR2sqNDy9wbNACcQnyR7WAnjh2UtgyknZCuIjWMW4LRsgQ3mCjl6rfBhIf4

 

รูปภาพเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/media/set?vanity=OECCHANNEL&set=a.7584447854900408

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด