ครูกัลยา เดินหน้ากระจายอำนาจผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยกชั้น รร. นิติบุคคล – เพิ่มอิสระทางวิชาการ ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบยิ่งใหญ่

image

วันนี้ (๒๘  มีนาคม  ๒๕๖๕) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เดินทางมาเป็นประธานการเสวนา ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา ณ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพมหานคร โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมให้การต้อนรับภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดออนไลน์วิถี New Normal ผ่านทาง live Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา

 

สกศ. ริเริ่มการจัดทำกฎหมายการศึกษาที่มีความสอดรับการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาสมัยใหม่ โดยมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทางการศึกษา (Stakeholder) อย่างรอบด้าน พร้อมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และผลักดันสู่การพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งถือเป็น “ธรรมนูญการศึกษา” เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิด วัยเรียน/วัยรุ่น วัยแรงงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)  กล่าวบรรยาพิเศษ เรื่อง “กฎหมายการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” ความสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า สมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษา มุ่งเน้นให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ กระจายอำนาจให้หน่วยงาน คณะกรรมการ และสถานศึกษาได้มีบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ในฐานะ รมช.ศธ. ที่กำกับดูแล สกศ. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้เป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน ให้ผู้เรียนเป็นผู้สนใจใฝ่รู้และมีความสามารถในการหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต

 

 

“การดำเนินงานเพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายการศึกษาที่สำคัญประสบความสำเร็จ และเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีผลลัพธ์เกิดขึ้นที่ผู้เรียนอย่างแท้จริง จะใช้กลไกของ สกศ. เป็นฟันเฟืองสำคัญหรือเป็นองค์กรนำในการพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้” รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า สกศ. เป็นองค์กรกลางที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำกฎหมายการศึกษา แผน และนโยบายการศึกษาที่จะใช้เป็นกรอบหรือทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ

 

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. จัดทำกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต เมื่อเข้าสู่ยุค “VUCA World” ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งเทคโนโลยีและการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับทั้งการศึกษาและการดำรงชีวิต เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลาย ทั้งในมิติของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การส่งเสริม การสนับสนุนการศึกษาของทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา

ดร.อรรถพล กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการประกาศใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ สกศ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จำนวน ๓ ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. ….  ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... (องค์การมหาชน) และร่าง พ.ร.บ.สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. .... รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ  โดย สกศ. จัดงานเสวนาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... กับการกระจายอำนาจทางการศึกษาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้และสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และการกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สร้างการรับรู้ต่อเครือข่ายภาคการศึกษาและเครือข่ายภาคสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป

 

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ได้บรรยายพิเศษสรุปใจความสำคัญว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า VUCA World  และ Digital Disruption ที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลาจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยมีทักษะแห่งอนาคต สามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน โดยการเรียน Coding / Unplugged Coding รวมถึง STI (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนอย่างสนุกมีความสุข ยึดโยงกับสะเต็มศึกษา (STEM: วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)) ซึ่งได้เพิ่มวิชาชีวิต (Art of Life) รวมถึงการอ่านและเขียนที่ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาให้กับเกษตรกรที่จะเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมไทยในอนาคต ภายใต้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้มีผลใช้บังคับให้เร็วที่สุด ทิศทางการศึกษาไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ขยายโอกาสสำหรับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในทุกระดับให้ได้รับการเรียนรู้ตามความถนัดของตนเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในการเสวนาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ธรรมนูญการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนมุมมองและแนวคิดจากผู้ริเริ่มยกร่างกฎหมายสำคัญนี้ อาทิ ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ไกรยศ ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้อัปเดตความก้าวหน้าในชั้นพิจารณาของรัฐสภา ใจความสำคัญว่า ภายหลังร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อปลายปี ๒๕๖๔ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ขณะนี้ใช้เวลาประมาน ๕ เดือนแล้วในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๑๐ มาตรา โดยในชั้น กมธ.วิสามัญฯ เห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายในรายมาตราให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

นอกเหนือจากร่างกฎหมายนี้ มีความมุ่งหมายในการพัฒนาเด็กแต่ละช่วงวัยให้มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และความจำเป็นในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ปรับเปลี่ยนหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย การพัฒนาเทคโนโลยีตามความเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลก เพื่อปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนในโรงเรียน ยังมุ่งเน้นหลักวิธีการเรียนการสอนให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงรุก (Active Learning) เน้นกระบวนการตั้งคำถามและการหาคำตอบให้เด็กได้มีโอกาสการลงมือทำด้วยตนเอง ยังมีเป้าหมายเพื่อกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา (Decentralized) หัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ คือ มาตรา ๒๐ ซึ่งระบุถึงสถานะของโรงเรียนของรัฐควรเป็นนิติบุคคล เพื่อลดบทบาทด้านการศึกษาของรัฐในส่วนกลางและเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษามีอิสระ มีการจัดการศึกษาด้วยตนเองครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน คือ วิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ภายใต้ศักยภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงเรียนและครูเพราะบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถออกแบบเพื่อจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสมตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามขับเคลื่อนการกระจายอำนาจทางการศึกษาลงลึกไปถึงโรงเรียน และตัวผู้เรียนแต่ละพื้นที่ จำเป็นต้องยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องการความร่วมมือทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ทั้งจากผู้บริหารและครู รวมถึงครอบครัว ชุมชน และภาคเอกชนผู้ประกอบการ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังต้องประสานความร่วมมือกับ ศธ. เพื่อกำหนดแนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องเหมาะสม และได้รับการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น

“สิ่งสำคัญที่ตามมากับการกระจายอำนาจทางการศึกษา คือ ความพร้อมที่จะรับผิดชอบของโรงเรียนผู้จัดการศึกษา รวมถึงทุกภาคส่วน เพื่อสร้างจุดแข็ง คุณภาพการศึกษาและผลักดันให้การกระจายอำนาจทางการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่” วงเสวนาสรุปแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “แนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษาของประเทศด้วยโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา” ผ่านมุมมองวิทยากรชั้นนำ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ นายคมสัน โพธิ์คง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ดร.พิทักษ์ โสตยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายของ รมช.ศธ. (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดในหลายมิติของการบริหารจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความเป็นอิสระของสถานศึกษาเปลี่ยนการกระจายอำนาจทางการศึกษาจากรูปแบบเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังรายการเสวนา ได้ทาง Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา

ภาพและข่าวเพิ่มเติม: Facebook "ข่าวสภาการศึกษา"

https://web.facebook.com/OECCHANNEL/posts/7580632218615305?_rdc=1&_rdr
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด