สกศ. โชว์รีวิว ๕ โรงเรียน Good Practices ผนึกเอกชนพัฒนาโมเดลเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

image

     วันนี้ (๒๔ มีนาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) มอบหมายผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธานเปิดการประชุมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน” พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้แทนจากภาคเอกชน ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะทำงานร่วมประชุม ณ ห้องจูบิลี่ บอลรูม โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook และ YouTube OEC News สภาการศึกษา

.

     ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดิจิทัลแพลตฟอร์มมีบทบาทอย่างมากในการเรียนรู้ในปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนารูปแบบจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมผู้เรียนและผู้สอนให้มีประสิทธิภาพ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนจากกลุ่มเซ็นทรัลและบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ไปยัง ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่านอกจากการสนับสนุนจากรัฐแล้ว ภาคเอกชนมีส่วนช่วยอย่างมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ องค์ความรู้ และการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มของนักเรียน สกศ. จึงได้รวบรวมข้อมูลและมุ่งพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ได้ประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและความเปลี่ยนแปลงของโลก

.

     "ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนอยู่ในภาวะที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันไป ฝ่าฟันในวิกฤตการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด 19 ผู้อำนวยการที่เก่งต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี ส่งเสริมผลักดันครูให้เก่งด้วยเพื่อสร้างเด็กเก่ง ดังนั้น ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งจากความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ยกระดับคุณภาพการศึกษา ก้าวผ่านไปสู่ Next Normal ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.ภูมิพัทธ กล่าวย้ำ

     ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในประเด็น “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจากสถานศึกษาที่มีแนวปฏิบัติที่ดี” โดยนางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ สกศ. สรุปนำเสนอแนวคิดและหลักการของงานวิจัยดังกล่าว นอกจากนี้ดร.จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นางสาวฑัยศิกานต์ญา เบณติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปะโอ จ.สงขลา นายทิพวัฒน์ ริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองแสงโคกน้อย จ.ขอนแก่น นางอิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จ.ระยอง และนายธรรมศักดิ์ นิติธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตโปทาราม จ.ชลบุรี ได้รายงานขยายผลการศึกษาแนวทางพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของแต่ละโรงเรียน โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในหลากหลายโครงการ เช่น โครงการสานฝันอนาคตการศึกษา (Connext ED) สนับสนุนด้านอุปกรณ์ และความรู้ จัดตั้งห้องปฏิบัติการ AI (ห้องปัญญาประดิษฐ์) สร้างทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนและคนในชุมชน และมีการสนับสนุนด้านงบประมาณในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) พร้อมให้ความรู้ IOT (Internet Of Things) กับครู นักเรียน ในโรงเรียนและชุมชน ขยายผลนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไปใช้ในการเรียนการสอนในอนาคต

     ทั้งนี้ ข้อค้นพบประการสำคัญจากงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนในแต่ละพื้นที่ยังต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านอุปกรณ์ในการเรียนรู้และเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ยังไม่ทั่วถึงทุกระดับชั้น สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ อีกทั้งยังคาดหวังให้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ครอบคลุมหลากหลายรายวิชามากยิ่งขึ้น

     นอกจากนี้ สกศ. ได้รวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่และการประชุมในครั้งนี้ จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายกลไกการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากการร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนด้านการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารงานด้วยการผสานนโยบายที่เกิดจากข้อเสนอของครูจากสภาพการปฏิบัติงาน (Bottom Up) มากยิ่งขึ้น และนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนรู้ พัฒนาการศึกษาของประเทศให้เท่าเทียมนานาชาติอย่างยั่งยืน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด