เลขาฯ สกศ. หนุนหลักสูตรเทียบเคียง NQF – ยกระดับผลิตภาพแรงงานแบบก้าวกระโดด

image

     วันนี้ (๗ มีนาคม ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมพัฒนาหลักสูตร และการเทียบเคียงระดับคุณวุฒิเพื่อรองรับการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณาจารย์วิทยาลัยนำร่อง และคณะทำงาน ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19)

     ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์จากวิทยาลัยนำร่อง และผู้แทนจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันถอดบทเรียน วิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อใช้เทียบเคียงระดับคุณวุฒิเพื่อรองรับการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่ง สกศ. ขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและร่วมติดตามลงพื้นที่ทุกภูมิภาค บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้ผู้สำเร็จการศึกษามีทักษะการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ (Productivity) แบบก้าวกระโดด ๒.๕ เท่า รวมถึงพัฒนาต่อยอดหลักสูตรรองรับระบบธนาคารหน่วยกิต ปรับและขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและเหมาะสมกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

     ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังการนำเสนอผลการพัฒนาหลักสูตรและการจัดหมวดหมู่ของกลุ่มรายวิชาที่เทียบเคียงกับระดับคุณวุฒิแห่งชาติและเทียบเท่ามาตรฐานอาเซียน ของวิทยาลัยนำร่องทั้ง ๙ แห่ง ได้แก่

๑) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน จากวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี

๓) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ

๔) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ จากวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด

๕) สาขาพลังงานและพลังงานทดแทน จากวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ

๖) สาขาอาชีพอาหาร จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา

๗) สาขาอาชีพเกษตร จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

๘) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

และ ๙) สาขาอาชีพแม่พิมพ์ จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม

     โดยในปี ๒๕๖๕ มีแผนในการขึ้นทะเบียนและรองรับหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และพัฒนาระบบ Digital Platform ขยายผลการพัฒนาจากหลักสูตรต้นแบบ ๘ สาขาสู่ ๔๒ สาขา เชื่อมโยงและดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานหลักพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมพัฒนามีมือแรงงาน (กพร.) และสถาบันคุณวุฒิวิขาชีพ (สคช.) อีกทั้งวางแผนจัดกรอบคุณวุฒิสัญจร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมจะดำเนินการถอดบทเรียน ระดมข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของผลการดำเนินงานความสำเร็จของทีมประเทศไทยและวิทยาลัยนำร่องทั้งหมดในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ นี้ รวมถึงหารือแนวทางการดำเนินงานและขยายผลเพื่อเชื่อมโยงส่งเสริมศักยภาพแรงงานต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด