ครูกัลยาชี้ทิศเด่นด้วย Research สั่งเดินหน้า สกศ. ทะยานสู่ฮับงานวิจัยด้านการศึกษาระดับอินเตอร์ ชวนโหลดแอป OEC Knowledge แค่ทัชก็เข้าถึงทุกเจเนอเรชั่น

image

     วันนี้ (๒ มีนาคม ๒๕๖๕) ที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ วังพญาไท กรุงเทพ ฯ // รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เดินทางมาเป็นประธานการเสวนาวิชาการ เรื่อง "เข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย (Edcompass : Empowered Education) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า (พลโท ธารา พูนประชา) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมให้การต้อนรับภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดออนไลน์วิถี New Normal ผ่านทาง live Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา 


     วาระสำคัญวันนี้ สกศ. ยกระดับบทบาทเข็มทิศการศึกษาชาติ ภายใต้แนวคิด "ชี้ทิศ คิดร่วมกัน ก้าวทันโลก" โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. และ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมคณะผู้บริหารสกศ. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ยกระดับสภาการศึกษาสู่การเป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านการศึกษาระดับนานาชาติ พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสภาการศึกษา OEC Knowledge (OECK) หลากหลายสาระความรู้ รวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรม เทรนด์การศึกษาใหม่ ๆ สำหรับทุกช่วงวัยผ่าน Content สุดล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นเด่น ปักหมุดความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาทุกมิติ อัปเดตเทรนด์ล่าสุดภารกิจพลิกโฉมการศึกษาทุกช่วงวัยเพื่อยกระดับในการพัฒนาประเทศ คัดสรรมาเพื่อคุณยึดโยง ๖ กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ประกอบด้วย ปฐมวัย นักเรียน ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอป ฯ ได้ทาง AppStore และ PlayStore ตอกย้ำแนวคิด สภาการศึกษา เข็มทิศชี้นำการศึกษาของประเทศด้วยฐานงานวิจัยและนวัตกรรม 

     ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในฐานะ รมช.ศธ. ได้วางนโยบายการศึกษามุ่งเน้นการปฏิรูปที่ตัวผู้เรียนโดยตรงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ภายใต้นโยบายหลัก ๔ เรื่องคือ ๑) Coding ซึ่งบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลข้อที่ ๗ ต่อมา ๒) STI (Science/Technology/ Innovation) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการการเรียนการสอนแบบสติ ๓) การสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM มุ่งเน้นเพิ่มศาสตร์การใช้ชีวิต (Art of life) ที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตอาสา และช่วยเหลือผู้อื่นประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และ ๔) พัฒนาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมง ให้จัดการเรียนการสอนแบบ Digital Farming ปูพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรขับเคลื่อนให้ชุมชน ลดความยากจน สร้างชลกรดูแลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ

     ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวเสริมขยายความว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีผลลัพธ์เกิดขึ้นที่ผู้เรียนอย่างแท้จริง จะใช้กลไกของ สกศ. เป็นฟันเฟืองสำคัญหรือเป็นองค์กรนำในการพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจาก สกศ. เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนและนโยบายการศึกษาที่จะใช้เป็นกรอบหรือทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ที่มีฐานข้อมูลองค์ความรู้ และผลงานวิจัย ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศ 


     ดร.คุณหญิงกัลยา  กล่าวด้วยว่า งานวันนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับ สกศ. สู่การเป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านการศึกษาระดับนานาชาติ และเพื่อเป็นการยืนยันด้วยว่างานวิจัย แผนการศึกษา ยุทธศาสตร์ กฎหมาย รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของ สกศ. จะถูกหยิบยกและนำมาใช้ในการกำหนดเข็มทิศการศึกษาและพัฒนาประเทศไทย เอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงของหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่น OECK ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของสภาการศึกษา 


     "ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอประกาศว่าสภาการศึกษาเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านการศึกษาระดับนานาชาติ ทำหน้าที่เข็มทิศการศึกษาพัฒนาประเทศไทย" รมช.ศธ. กล่าว


     ทางด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า งานเข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย สกศ. จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลและผลงานวิจัยที่จะใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยเป็นผลงานวิจัยที่ สกศ. ดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี โดยรวบรวมและจัดทำไว้ในแอปพลิเคชัน OECK เพื่อสะดวกต่อการใช้งานและสามารถเรียกดูได้ในทุกที่และทุกเวลาผ่าน Smart device ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายได้แบบ Real Time เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการศึกษาของประเทศให้สามารถตอบสนองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที 


     "เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของ สกศ. ที่เป็นศูนย์กลางงานวิจัยทางการศึกษาที่ได้จัดทำผลงานวิจัยด้านการศึกษาไว้ในทุกมิติทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติรองรับการจัดการศึกษาทุกช่วงวัย" ดร.อรรถพล กล่าว 


     ขณะที่การเสวนา "เปิดข้อเท็จจริงการศึกษาไทย ผ่านข้อมูลและผลงานวิจัยเพื่อกำหนดเข็มทิศการศึกษา" โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษาดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และรองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ ผู้ร่วมโครงการวิจัยการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี Google Workspace for Education ปรากฏสาระน่าสนใจสะท้อนมุมมองหลากหลายวาระ อาทิ จุดเน้นการพัฒนาทักษะให้คนทุกช่วงวัยเพื่อลดช่องว่างในช่วงที่มีการเกิดน้อย-คนสูงวัยเพิ่ม การสร้างสมดุลการผลิตกำลังคนวัยแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดรับอุตสาหกรรมใหม่ New-S Curve ส่งเสริมทักษะที่ตรงกับอาชีพอนาคต  

     การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพลิกโฉมการศึกษาระดับอุดมศึกษาของ สอวช. เพื่อร่วมชี้ทิศการพัฒนากำลังคนของประเทศที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลก ความพยายามรวบรวมฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายการศึกษาของ กสศ. เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุด พัฒนาระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์สังคม ลดจำนวนเด็กที่ตกหล่นในระบบการศึกษา งานวิจัย กสศ. เป็นส่วนหนึ่งของการ่วมชี้ทิศการศึกษาไทย เชื่อมโยงรอยต่อการศึกษาทุกระดับไม่ให้เกิดรูรั่วตกหล่น  สร้างเส้นทางเด็กภายใต้เลขประจำตัว ๑๓ หลัก ที่มีความชัดเจนภายใต้แนวคิด Zero dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน 


     ภาคเอกชนก็ร่วมขับเคลื่อนคู่ขนานภาครัฐ Google ให้ความสำคัญการลดความเหลื่อมล้ำโดยติดอาวุธแก่ครู-นักเรียน เชื่อมโยง Device ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ตามความต้องการ โมเดลศึกษา โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ทดลองใช้รูปแบบ Google Classroom Google meet เป็นฐานเทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของครู-นักเรียน ที่มีระบบการสอนเชิงรุกเพื่อเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในหลายวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ เน้นสอนโดยให้ทำจริงเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริง 


     ในช่วงบ่ายยังมีการเสวนาต่อเนื่อง ๒ เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย การเสวนา "กว่าทศวรรษกับ Big Data ด้านการศึกษาของประเทศไทย" ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นแนวหน้า ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์ ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา รองศาสตราจารย์ ดร.ดนุวัศ สาคริก อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมคิดและสะท้อนความก้าวหน้าสำคัญด้านฐานข้อมูลการศึกษา 


     สาระโดดเด่นจากวงเสวนา "Cyber Security รู้เท่าทันสื่อและภัยคุกคามจากสื่อโซเชียลในปัจจุบัน" ที่มีผู้สันทัดกรณีร่วมวิพากษ์อย่างตรงประเด็น นายนนทวัตต์ สาระมาน นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) และที่ปรึกษาหลักสูตร Cyber Security มาตรฐานสากล ICDL ประเทศไทย นายสรุจ ทิพเสนา ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชั่นองค์กร บริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนบริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด


     ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นสภาการศึกษา OECK ได้จาก AppStore และ PlayStore รวมถึงรับชมย้อนหลังรายการเสวนาทั้ง ๓ รายการ ได้ทาง Facebook และ Youtube : OEC News สภาการศึกษา      

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด