สกศ. ต่อยอดธนาคารหน่วยกิต ขยายผลต้นแบบสู่ปทุมธานี-นครศรีธรรมราช

image

 

          วันนี้ (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล) ประชุมชี้แจงการดำเนินงานขยายผลต่อเนื่องกลไกเชิงพื้นที่ ประเด็นระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา เช่น นายสุรพงศ์ เป้ากลาง ประธานหอการค้าจังหวัดปทุมธานี นางวิมลมาลย์ รินไธสง รองศึกษาธิการภาค ๕ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค ๕ ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการภาค ๒ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)

          สกศ. ค้นหาต้นแบบเพื่อขยายผลการดำเนินงานพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ เชื่อมโยงธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อสร้างจุดเน้นการเรียนรู้ตามความถนัดหรือตามความอัธยาศัย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจในพื้นที่สามารถนำประสบการณ์ทำงาน ทักษะ การฝึกอบรม สะสม/เทียบโอนได้ นำไปสู่การพัฒนากำลังคนในพื้นที่และเพิ่มทักษะ (Up-Skills) ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เสริมความมั่นใจด้านการขยายผลต่อเนื่องการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ (Area-based) ประเด็นธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) จะสามารถเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ การกระจายอำนาจให้พื้นที่สามารถปฏิบัติได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ สกศ. วางนโยบายผลักดันประเด็นธนาคารหน่วยกิต เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาแบบเดิม และคาดหวังได้ต้นแบบที่สมบูรณ์ในการพัฒนากำลังคนของประเทศ

          ต้นแบบขยายผล ๒ แห่ง คือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ผลักดันประเด็นดังกล่าวจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น สกศ. สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และหอการค้าจังหวัดปทุมธานี เปิดระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อผู้เรียนหรือวัยแรงงาน พัฒนาทักษะเดิมและทักษะใหม่ (Re-skills & Up-Skills) ให้เกิดการสะสมความรู้ประสบการณ์ ต่อยอดทักษะและการประกอบวิชาชีพให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น สอดคล้องกับค่าตอบแทนและค่าครองชีพในปัจจุบัน

          สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตโดยอิงฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเตรียมเปิด “ศูนย์ธนาคารสะสมหน่วยกิตนครศรีธรรมราช” ณ วิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช เพื่อดูแลให้คำปรึกษาการสะสมและเทียบโอนความรู้อย่างครบวงจร และผลิตสื่อสรุปสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนระยะสั้น ความรู้ประสบการณ์ รวมถึงวิธีเทียบโอนเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) สำหรับประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจโดยมีหน่วยงานทางการศึกษารองรับทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และมหาวิทยาลัยในพื้นที่

          ในปี ๒๕๖๕ สกศ. คาดหวังสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกับพื้นที่ต้นแบบ เพื่อได้มาซึ่งรายงานการถอดบทเรียน ผลทดลองขยายผล และข้อเสนอแนะที่สามารถส่งต่อขยายผลทั่วประเทศ

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด