สภาการศึกษาจัดเสวนาปีการศึกษาเฉลี่ยปี ๖๔ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา พัฒนากำลังคนทัดเทียมนานาชาติ

image

     วันนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการการประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี ๒๕๖๔ ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) พร้อมคณะผู้บริหาร สกศ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ครูผู้สอน ประชาชนที่สนใจตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook และ YouTube : OEC News สภาการศึกษา

     ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยปี ๒๕๖๔ ในครั้งนี้ สภาการศึกษาซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังสู่เวทีโลก มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเกี่ยวมุมมองเกี่ยวกับจำนวนปีการศึกษาของประชากรไทยจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ช่วยสะท้อนแนวทางการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาและวางแผนพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

     สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอ “ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี ๒๕๖๔” โดย นายภาณุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ปีการศึกษาเฉลี่ยถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในดัชนีด้านการศึกษาทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้นมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัดในวัยแรงงานอายุ ๑๕-๕๙ ปีดีขึ้นจาก พ.ศ. ๒๕๖๔๓ จำนวน ๕ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และกาญจนบุรี และจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดย สกศ. พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี ๒๕๖๔ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ ๑๕ - ๕๙ ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ ๙.๙๖ ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง ๒.๕๔ ปี จากเป้าหมายในปี ๒๕๗๙ ในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ อยู่ที่ ๑๒.๕ ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ ๐.๑๘ ปี ทั้งนี้มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยต้องผลักดันระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการบริหารและจัดการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม มุ่งจัดการศึกษาเชิงรุกให้กับประชาชนเข้าเรียนในระบบโรงเรียนได้อย่างสะดวก พัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนให้มีรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตอบสนองต่อตลาดแรงงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

     นอกจากนี้ ที่ประชุมได้จัดเสวนาเรื่อง รูปแบบและหลักสูตรที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษา โดยมี ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อให้คนไทยได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ผลักดันหลักสูตรทางการศึกษาตามความสนใจส่วนบุคคลของผู้เรียนตอบสนองโลกยุคใหม่ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กำหนดนโยบายพัฒนาการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด