ก้าวย่างปีที่ ๖๔ สกศ. ชี้ทิศ คิดร่วมกัน ก้าวทันโลก ยกระดับเข็มทิศการศึกษาชาติ

image

     วันนี้ (๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หน่วยงานชั้นแนวหน้าด้านการจัดทำนโยบายและมาตรฐานการศึกษาประเทศไทย จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สกศ. ครบรอบ ๖๓ ปี ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เป็นประธานในพิธี โอกาสนี้เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภูทอง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/กลุ่ม ข้าราชการ และบุคลากร สกศ. ร่วมให้การต้อนรับภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19)    


     ไฮไลต์โดดเด่น ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. ในระหว่างเสวนาพิเศษออนไลน์ เรื่อง "สภาการศึกษาเข็มทิศการศึกษาไทย : สร้างกำลังคนสมรรถนะสูง รับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญต่อการ "ชี้ทิศ คิดร่วมกัน ก้าวทันโลก" ของชาว สกศ. และคณะวิทยากรคนดัง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย 
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๗) โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ดำเนินรายการ ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์สื่อสารนโยบายเด่น สกศ. ขยายการรับรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คู่ขนานไปกับผู้ติดตามการเสวนาจากทั่วประเทศ โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดออนไลน์วิถี New Normal ผ่านทาง Facebook live : OEC News สภาการศึกษา สรุปวาระเด่น สกศ. เข็มทิศการศึกษาชาติ ดังนี้  


     ชี้ทิศ 
     การชี้ทิศทางด้วยเข็มทิศการศึกษาที่ถูกที่ถูกทางได้ผลดีมีประสิทธิภาพในโลก VUCA World ที่มีความผันผวนเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า สกศ. คิดเองไม่ได้ แม้มีงานวิจัยมากมายแต่ต้องการประสบการณ์และความคิดจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่าง ๆ เข้ามาเสริมและแนะนำเข็มทิศให้ชี้ทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย สร้างอาวุธสมอง สร้างอาวุธใจ ที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทุกขณะได้ด้วยโยบาย Coding เป็นนโยบายการศึกษาเร่งด่วนข้อที่ ๗ ของชาติ โดยใช้ Unplug Coding เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เข้าถึงตัวเด็กครั้งแรกในประเทศไทย ฝึกให้เด็กรู้จักคิดเป็นระบบ กล้าตัดสินใจ ลงมือทำ เป็นทักษะใหม่ของโลกอนาคต พัฒนาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาชีวิตได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยทำงาน 


     คิดร่วมกัน
     แนวทางร่วมกันคิดมีความหมายยิ่งใหญ่ ไม่ใช่คิดในแบบราชการเท่านั้นต้องเตรียมเด็กให้มีความพร้อม ต้องคิดนอกกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้แนวคิด Coding แห่งชาติ เป้าหมายคือผลิตเด็กที่มีงานทำสอดรับกับตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทันสมัย ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ต้องร่วมผสมผสานการเรียนรู้สอดคล้องนโยบายรัฐปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรกลุามสาระเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ คนเก่งมีมากมาย เด็กสอบได้ที่ ๑ ต้องปรับความรู้เรียนแล้วเกิดสมรรถนะ เลี้ยงตนเองได้ ช่วยเหลือครอบครัวได้ สร้างประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมด้วย ต่อยอดพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology Innovation : STI) เป็นพื้นฐานของผู้เรียนทุกระดับปัจจุบันตามช่วงวัย ทิศทางดังกล่าวต้องการความร่วมมือจากทุกคน ผู้บริหารการศึกษาต้องพบปะผู้คนและเครือข่ายการศึกษาร่วมกันสร้างคนไทยคุณภาพสูงสู่ประเทศไทย ๔.๐ ก้าวสู่พลเมืองที่มีคุณภาพของโลก  

     ก้าวทันโลก 
     เกิดเทรนด์อาชีพใหม่ ๆ ยุคดิจิทัล เด็กมีความคิดที่แตกต่างออกไป ริเริ่มอาชีพใหม่ ๆ กวาดอาชีพเก่า ยุคดิจิทัลไม่มีสิ่งใดแน่นอน เรียนแค่สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics : STEM) ยังไม่เพียงพอ ต้องเพิ่ม A ที่มีความหมายไม่ใช่แค่ Art Of Life ปรับเพิ่มให้เป็น STEAM ประเทศไทยมีความลึกซึ้งในเชิงวัฒธรธรรมคุณธรรม ยึดมั่นประเพณีที่ดีงาม ผสมผสานกับองค์ความรู้เทคโนโลยี เมื่อเก่งแล้วต้องมีคุณธรรมความดีควบคู่ไปด้วย เสริมความแข็งแรง เอาชนะชาติตะวันตกและชนะปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะมนุษย์มีจินตนาการ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล วัฒนธรรม ความดีงาม เอาชนะ AI และอินเทอร์เนต (IOT) คนไทยมีจิตวิญญาณเหนือกว่าเครื่องจักร ต่อไปเด็กรุ่นใหม่จะเก่งกว่าคนรุ่นก่อน อาชีพใหม่ยังไร้ขีดจำกัดและมีเกิดขึ้นอีกมากมาย ออนไลน์ และออฟไลน์ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ พื้นฐานเด็กไทยที่มี Coding ที่เข้าถึงและปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็กอย่างแท้จริง สนใจอะไรเรียนสิ่งนั้น STEAM และ Coding จะทำให้เด็กไทยชนะทุกชาติ ทุกอาชีพต้องมี STEAM แพทย์ วิศวกร นักการตลาด เมื่อมีระบบความคิดแก้ไขปัญหาที่ดีสามารถสร้างนวัตกรรมชั้นแนวหน้าของโลกได้ เร่งพัฒนาไปที่ตัวบุคคล สร้างให้มีจิตใจสาธารณะเป็นคนไทยที่สมบูรณ์แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีสูงเพียงใดก็ตาม 

     ขณะที่ช่วงเช้ามีพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสำนักงาน ฯ และศาลพระภูมิชัยมงคล โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/กลุ่ม ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป ต่อมาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานและเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลตามลำดับเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาว สกศ. และยังมีพิธีมอบประกาศนียบัตร "คนดีศรี สกศ." แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และผู้ได้รับการเสนอชื่อ เป็นขวัญกำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ดียิ่งขึ้นไป  

 
      สกศ. ก้าวสู่ปีที่ ๖๔ ภายใต้การนำของ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ที่มีนโยบายสร้างสรรค์ "เด็กไทย ๒๐๒๕ เพื่อเศรษฐกิจไทย" ขยายวิสัยทัศน์โดดเด่นมองแนวโน้มการศึกษาและภาคกำลังคนอนาคตต้องเติบโตไปด้วยกัน (Common Growth) มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศด้วยการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นวาระสำคัญการขับเคลื่อนงานของ สกศ. ในการสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคม 


     งานวิจัย สกศ. พบว่านักเรียนทุกชั้นมากกว่า ๑๔ ล้านคน ไม่ได้ไปโรงเรียนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด Covid-19 สร้างปรากฎการณ์ "ความรู้ถดถอย" (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขผ่านแนวทางการพัฒนาระบบผลิตและคัดกรองครู เพื่อให้มีสมรรถนะใหม่สอดคล้องการปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ๓.๗๘ หมื่นแห่ง และส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ผ่านระบบออนไลน์แก่นักเรียนในระบบ จำนวน ๑๒.๕๙ ล้านคน ผลผลิตด้านนโยบายของ สกศ. ที่ผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากสภาการศึกษา (กกส.) จากอดีตและส่งกระทบต่อเนื่องปัจจุบันนั้น ผลการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหลายเรื่องประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องต้องเร่งพัฒนาปรับปรุง ต่อยอด และเข้าถึงทุกกลุ่มช่วงวัย 


     การผลักดันการตราร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นแปรญัตติของคณะกรรมาธิการร่วมของทั้ง ๒ สภาเรียบร้อยแล้ว เปรียบเสมือน "ธรรมนูญการศึกษา" เป็นกฎหมายกลางของการศึกษา เพื่อดูแลการจัดการศึกษาของประเทศและปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาปฐมวัย การพัฒนาทักษะและความรู้ในทักษะเดิม (Upskill) และพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ (Reskill) และพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นรองรับทุกช่วงวัย (Gen XYZ) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย  


     สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระทางวิชาการย่างก้าวผ่านสู่ปีที่ ๖๔ ยังเร่งขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติอย่างเข้มแข็งและปลุกความคิดสำคัญต่อสังคมตลอดมา ประการสำคัญผลลัพธ์ที่ต้องการ สกศ. มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดเป้าหมาย "เด็กไทย ๒๐๒๕ เพื่อเศรษฐกิจไทย" ทิศทางการขับเคลื่อนงาน สกศ. เร่งปรับงานวิจัยผสมผสานยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สอดรับกับงานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) รองรับการประกอบอาชีพแห่งอนาคต ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องความต้องการที่แท้จริง แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ กำหนดพิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์ (Skill Mapping) ขับเคลื่อนคือการสร้างศักยภาพการแข่งขันประเทศไทยในเวทีโลก 


     ภายใต้ทิศทางที่มีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนตามนโยบายรัฐบาล ประเทศมีความหวังมีทางเดินชัดเจน โดย สกศ. ปรับบทบาทเป็น "เข็มทิศการศึกษาชาติ" สร้างความมั่นใจผู้ปกครอง แม้ว่าการศึกษามีหลากหลายมิติ การเรียนออนไลน์เป็นส่วนหนึ่ง การเรียนที่สมบูรณ์คือการได้เรียนวิชาชีวิต ทำกิจกรรมร่วมกัน หลอมรวมวิชาการเข้ากับวิชาชีวิตเป็นคนที่สมบูรณ์และเติมเต็มด้วยเทคโนโลยี สามารถคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองด้วยตนเองได้ ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาสอดรับการเปิดประเทศและเชื่อมโยงเสาหลักเศรษฐของกิจประเทศ พัฒนาทักษะเดิมเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill-Reskill) ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปลดอัตราการว่างงาน ส่งเสริมผลิตผู้ประกอบการใหม่ (Startup) สร้างอาชีพใหม่ที่เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  


     ความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของ สกศ. จึงถือเป็นทั้งพันธกิจและความท้าทายในสถานการณ์ที่ต้องการ "ความกล้าหาญ" ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาที่เท่าทันเหตุการณ์และเปิดมุมมองการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ สอดรับกับสถานการณ์โลก New Normal ที่ยังต้องเร่งพัฒนาการสร้างสรรค์ระบบการจัดการเรียนรู้สามารถอยู่ร่วมกับ Covid-19 ตลอดไป.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด