สกศ. ผนึกกำลังภาคการศึกษา-ภาคเอกชน วางแนวทางดันอันดับ IMD การศึกษาไทย พัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การแข่งขันในเวทีโลก

image

วันนี้ (๓๑ มกราคม ๒๕๖๕) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) เป็นประธานการประชุมเรื่อง แผนยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรมหมวาทย์) นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหารสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference)
 

 

ดร.คมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเน้นตัวชี้วัดด้านการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย และวางแผนพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ผล IMD การจัดอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในอันดับ ๕๖ มีอันดับลดลง ๑ อันดับ จากปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และเป็นอันดับ ๓ ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการจัดอันดับ เป็นรองประเทศสิงคโปร์ที่ได้อันดับ ๗ และประเทศมาเลเซียที่ได้อันดับ ๓๙



เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดด้านการศึกษาของ IMD จำนวน ๑๙ ตัวชี้วัด โดยเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๓ พบว่า ประเทศไทยมีตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนในด้านการศึกษามี ๓ ตัวชี้วัด คือ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษา และงบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งหรือมีการพัฒนามากที่สุด ๒ ตัวชี้วัด คือ ดัชนีมหาวิทยาลัยและอัตราส่วนนักเรียนต่อครูที่สอนระดับประถมศึกษา ซึ่งมีอันดับดีขึ้นถึง ๖ อันดับ จากอันดับที่ ๓๖ เป็นอันดับที่ ๓๐ 

 


.
ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปราย (ร่าง) แผนยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ซึ่ง สกศ. ได้เสนอแผนงานทั้ง ๓ ระยะ คือ ๑) ระยะสั้น ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลและการคำนวณค่าสถิติด้านการศึกษาให้ตรงตามนิยามของตัวชี้วัดที่กำหนด ๒) ระยะยาว จัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับความสามารถด้านการศึกษา ที่ระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาของไทยและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างฟินแลนด์ และ ๓) แผนติดตามประเมินผล โดยนำข้อมูลที่สำคัญมาสรุปให้เห็นภาพในหน้าเดียว (Dash Board) เพื่อให้เห็นภาพรวมจากทุกองค์กร และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการศึกษาของประเทศ

 


ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ค่าสถิติทางการศึกษาของ IMD บางประเด็นค่อนข้างต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง จึงเสนอให้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล (Hard Data) ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถช่วยยกอันดับการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้ในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพัฒนาการศึกษาไทยในระยะยาวควบคู่กันด้วย โดยผลของ IMD สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ที่มีอัตราเข้าเรียนระดับมัธยมในระดับสูงมักเป็นพื้นที่ในจังหวัดใหญ่ที่มีความเจริญ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายแดนมีอัตราเข้าเรียนต่ำ สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยที่จะต้องเร่งขยายโอกาสทางการศึกษา ด้วยการจัดทำข้อมูลรายบุคคลเพื่อดูแลการเข้าถึงทางการศึกษาของนักเรียนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งวางแนวทางพัฒนาผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินอันดับ IMD และส่งเสริมการศึกษาตามแนวทาง The world economic forum education framework 4.0 ของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามความถนัดและพหุปัญญาที่หลากหลายของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ควบคู่กับการยกอันดับการศึกษาของไทยในเวทีโลกต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด