สภาการศึกษาเปิดเวที เผยผลการเรียนรู้ของเด็กไทยในยุค COVID - 19

image

วันนี้ (๒๘ มกราคม ๒๕๖๕) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสัมมนา OEC Talks ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เรื่อง ผลการเรียนรู้ของเด็กไทยในสถานการณ์โควิด - ๑๙ : ข้อค้นพบ และข้อเสนอเพื่อการพัฒนา ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) มอบนโยบายและปาฐกถาพิเศษ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) พร้อมคณะผู้บริหาร สกศ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ครูผู้สอน ประชาชนที่สนใจตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19)ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live และ YouTube : OEC News สภาการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อวิพากษ์จากผู้ติดตามชมผ่าน Inbox message ต่อยอดแนวทางพัฒนาการศึกษาสู่คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนในอนาคต

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างพิธีเปิดว่า สถานการณ์โควิด - ๑๙ ทำให้เกิดการถดถอยทางการเรียนรู้จากหลายปัจจัย ครู นักเรียน และผู้ปกครอง จึงต้องปรับตัวสู่ยุค New Normal รวมถึงฟื้นฟูคุณภาพการเรียนการสอน การประชุมครั้งนี้มุ่งหาทางออกจากการเสียโอกาสในการเรียนรู้ ที่ทำให้เด็กอาจสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตามช่วงวัย จึงควรใช้ Digital Devices ขยายโอกาสทางการศึกษาเข้าถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ตอบโจทย์การเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ และเกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง

สำหรับการประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีการเสนอผลการศึกษาเพื่อสะท้อนสภาพการณ์และสาเหตุภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กไทยในสถานการณ์โควิด - ๑๙ ผ่านการนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวคิดจาก รศ.ดร. อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกูล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร นายปิลัทธ์ อุดมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาตาก เขต ๒ ดร.ปิ่นทอง ใจสุทธิ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย จ.สมุทรปราการ และนางสาวณัชชาวีล์ วาณิชย์สุรางค์ ผู้ดำเนินรายการ ที่ร่วมผสานความคิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทย

ผลการศึกษาพบว่า การจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย การบริหารจัดการ และการวัดและประเมินผลของสถานศึกษา ส่งผลให้มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการเรียนการสอนอย่างหลากหลายเพื่อเข้าถึงผู้เรียนให้มากที่สุด โดยมีแนวทางการลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนี้ ๑) การสร้างแรงจูงใจและเสริมสร้างการเรียนรู้แบบนำตนเอง ครูผู้สอนและผู้ปกครอง ควรกระตุ้นการเรียนรู้และเสริมแรงให้แก่ผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ๒) การพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนรู้ของครู  ๓) การปรับเนื้อหา ลดภาระงานนักเรียน ตลอดจนการสร้างเจตคติและแรงจูงใจที่ดีในการเรียน ๔) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน ผู้ปกครองและครู และ ๕) การจัดสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ สื่อและเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและมีคุณภาพต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อเสนอ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในสถานการณ์โควิด-๑๙ การเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพื่อรองรับทรัพยากรที่จะเข้ามาช่วยการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน ๕ รูปแบบ คือ On-Site, On-Air, Online, On Demand และ On Hand ส่งเสริมการเรียนรู้แบบนำตนเองให้แก่นักเรียน ครูผู้สอน และผู้ปกครอง ควรเสริมสร้างการเรียนรู้แบบนำตนเองให้แก่ผู้เรียนด้วยการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ สอนให้ผู้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ และเสริมแรงให้แก่ผู้เรียนอยู่เสมอเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.
enlightened รับชมภาพข่าวเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook : ข่าวสภาการศึกษา
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.7284510584894138&type=3 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด