สกศ. ร่วมงานเปิดคอร์สแรกประเทศไทย-เทคนิควิทยาการนาฬิกา เสมา ๑ ดันผลิตช่างสมาร์ตวอตช์รับตลาดแบรนด์หรูโตทะลุ ๓ หมื่นล้านบาท

image

         วันนี้ (๒๘ มกราคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) มอบหมายผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร (นางนันทิชา ไวยนพ) เป็นผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตรเทคนิควิทยาการนาฬิกาของวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ให้เกียรติเป็นประธานแถลงข่าวร่วม โดยนายวิเชียร เนียมน้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) พร้อมคณะอาจารย์ ฯ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมใหญ่ บี ๑๐๕ อาคารเดอะธารา แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี 

     นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวความสำคัญตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอแสดงความชื่นการต่อยอดและสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ เป็นความต้องการโดยเฉพาะการเร่งสร้างช่างเทคนิคเฉพาะทางที่มีรายได้สูง ดังเช่นเทคนิควิทยาการนาฬิกาที่ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เปิดหลักสูตรนี้ ถือเป็นโอกาสขยายตลาดอาชีพประเทศไทย ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทย รวมถึงการพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มทางเลือกการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างสอดคล้องการพัฒนาของประเทศต่อไป 

        วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ภายใต้แนวคิด Worked-based Education เรียนควบคู่ทำงานสั่งสมประสบการณ์จริง เปิดหลักสูตรเทคนิควิทยาการนาฬิกา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย เร่งผลิตช่างเทคนิคซ่อมบำรุงนาฬิการะดับมืออาชีพในเฟสแรก จำนวน ๒๐ คน เมื่อจบการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีในสถานประกอบการชั้นนำของโลก สร้างรายได้สูง ยกระดับทักษะต่อยอดประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของกิจการเทคนิควิทยาการนาฬิกาเพื่อรองรับตลาดนาฬิกาข้อมือชั้นนำ (Watch) ที่มีแนวโน้มขยายตัวในประเทศไทย ข้อมูลรายงานภาพรวมตลาดนาฬิกาประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๖๒ มีมูลค่ากว่า ๒.๕ หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มนาฬิกาหรูหรา (Luxury Brand) ราคา ๕ แสนบาทขึ้นไปราวร้อยละ ๒๐ ขณะที่นาฬิกาคุณภาพสูง (Hi-end) ราคา ๑-๕ แสนบาท มีส่วนแบ่งการตลาดราวร้อยละ ๓๔.๘๕ นาฬิกาคุณภาพระดับกลาง (Mid-end) ราคา ๒ หมื่นบาท-๑ แสนบาท ราวร้อยละ ๓๐.๖๒ ส่วนนาฬิกาแฟชั่นและเทรนด์ ราคา ๕,๐๐๐ -๒๐,๐๐๐ บาท มีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๑๔.๕๓ 

     อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-๑๙) ในช่วงปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงสายงานการผลิตของแบรนด์นาฬิกาหรูหลากหลายแบรนด์เกิดหยุดชะงักไป ส่งผลให้ตลาดขายนาฬิกาหรูมือสองเติบโตจนคิดเป็นมูลค่า ๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๖.๖ แสนล้านบาท สร้างแรงกระตุ้นให้บริษัทและธุรกิจเพิ่งเกิดใหม่ต่าง ๆ (Startup) เริ่มหันมาแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อหวังครองตลาดนาฬิกาหรูและนาฬิกามือสองที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในตลาดออนไลน์

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด