รีพอร์ตโมเดลอาชีพ นำร่องพัฒนาหลักสูตรเชื่อมโยงมาตรฐาน NQF

image

     วันนี้ (๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือความก้าวหน้าในการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบาลและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้บริหารและอาจารย์จากวิทยาลัยนำร่อง ๙ แห่ง ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

     ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากวิทยาลัยนำร่องระดับประเทศ เพื่อหารือความก้าวหน้าในการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน “แผนปฏิบัติการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน”  โดยมุ่งหวังให้การขับเคลื่อนความก้าวหน้าในครั้งนี้สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้สถานศึกษาอื่น ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพ พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการอาชีพของตลาดแรงงาน และเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ตาม NQF

     ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังการนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาและปรับหลักสูตรเพื่อเชื่อมหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของวิทยาลัยนำร่องทั้ง ๙ แห่ง ใน ๘ สาขาอาชีพ ได้แก่ ๑) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน โดยวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ๓) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ๔) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน โดยวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด และวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ ๕) สาขาอาชีพอาหาร โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ๖) สาขาอาชีพเกษตร โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ๗) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ โดยวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี และ ๘) สาขาอาชีพแม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์ โดยวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม อีกทั้งยังร่วมกันรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารจาก ๔ องค์กรหลัก ประกอบด้วย ๑) สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ๒) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ๓) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.)  และ ๔) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เพื่อหาแนวทางและแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนงานพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนที่มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด