อนุ ฯ NQF ติดตามการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีพเร่งด่วน ๗+๑ สาขาอาชีพ พร้อมปรับ Demand-Supply ตามเสาหลักเศรษฐกิจไทย

image

 

 

          วันนี้ (๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) และรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ โดยมีนายถาวร ชลัษเฐียร เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ ร่วมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย นางวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนวิทยาลัยเทคนิค ผู้แทนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้แทนนำเสนอผลการดำเนินงานจากคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาอาชีพจำเป็นเร่งด่วน ๘ คณะ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

 

 

          ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความต้องการพัฒนากำลังคนซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) โดยวางแผนสัญจรพบเสาหลักเศรษฐกิจไทย เช่น หอการค้าไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสำรวจทักษะและความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการ และวางเป้าหมายให้สถานศึกษาเติมเต็มทักษะให้กับผู้เรียนที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงงาน
 


          ที่ประชุมพิจารณาผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา พร้อมแผนปฏิบัติการของคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาอาชีพจำเป็นเร่งด่วน ๘ คณะ ได้แก่ ๑) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๓) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๔) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๕) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน ๖) สาขาอาชีพอาหารและเกษตร ๗) สาขาอาชีพแม่พิมพ์และเครื่องมือการแพทย์ และ ๘) สาขาอาชีพช่างอากาศยาน

          โดยสรุปในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ทุกสาขาอาชีพเริ่มดำเนินการอบรมหลักสูตรระยะสั้นบางส่วนแล้ว และพบปัญหาในการดำเนินงานคือสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID-19) ทำให้ปรับเป็นหลักสูตรอบรมออนไลน์ อีกทั้งเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องการรับงบประมาณจากเครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ คณะทำงานทุกสาขาอาชีพจะดำเนินการตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้รับงบประมาณที่เพียงพอและสามารถอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับผู้เรียนแบบออนไซต์ เพื่อสร้างกำลังคนตามอาชีพจำเป็นเร่งด่วนที่เชื่อมโยงกับคุณวุฒิวิชาชีพได้มากขึ้นตามเป้าหมาย

 

 


 


          นอกจากนี้ คณะทำงานเสริมข้อเสนอแนะจากการขับเคลื่อนงานว่า ผลการสอบวัดและประเมินผลหรือใบรับรองที่เชื่อมโยงคุณวุฒิชาชีพ หากผลักดันให้เกิดการยอมรับในกลุ่มของแต่ละอาชีพทั้ง ๗+๑ อาชีพ และยอมรับในระดับอุตสาหกรรมจากภาครัฐและเอกชน จะทำให้ปลดล็อกการรับเข้าทำงานของกลุ่มวัยแรงงานเป็นมาตรฐานร่วมกันต่อไป

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด