อรรถพล ผลักดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อยอด Skill Mapping ออกแบบเด็กไทยตอบโจทย์ปี ๒๐๒๕

image

     วันนี้ (๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมผู้แทนองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)



     ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ส่งเสริมผลักดันการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อเชื่อมโยงการผลักดันต่อเนื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) และแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดย สกศ. เป็นผู้กำหนดทิศทางการศึกษา "เข็มทิศประเทศไทย" มุ่งเน้นการจัดการศึกษาบูรณาการศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษา หลอมรวมให้เป็นคนที่มีความสมบูรณ์ รู้จักตัวตน เป็นคนดีมีวินัยคุณธรรมจริยธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดวิเคราะห์ และมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถเลือกเส้นทางเดินในการประกอบอาชีพอนาคต  


.     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า ได้หารือ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ถึงการกำหนดผลลัพธ์คือ เด็กไทยในปี ๒๐๒๕ ที่มีคุณภาพสอดรับการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของประเทศที่มีมูลค่าสูง ทาง รมว.ศธ. และรัฐบาล มีความห่วงใยการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดย สกศ.จะได้เดินสายพบเสาหลักเศรษฐกิจไทย เช่น สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อพูดคุยหารือการปรับหลักสูตรทีมีความสอดคล้องความต้องการที่แท้จริง การแปลงสู่การปฏิบัติต้องมีพิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือ Skill Mapping เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ครอบคลุมการศึกษาทุกช่วงวัยและมีกรอบทางเดินที่ชัดเจนเป็นแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการวางแผนการเรียนของบุตรหลาน การลงทุนการศึกษาที่มีความคุ้มค่า ตอบโจทย์รัฐบาลและระบบการศึกษา การันตีใน ๑๐ ปี เด็กไทยมีเส้นทางชีวิตชัดเจน และต้องปรับทั้งองคพยพตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

 


     ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน ๑๐ คณะทำงานเพื่อพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

     คณะที่ ๑  คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องนโยบาย รมว.ศธ. 

     คณะที่ ๒ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... แก้ไขอำนาจคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ก.ค.ศ. นัดประชุมรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องตามข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

     คณะที่ ๓ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... แก้ไขอำนาจการกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพสอดรับทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

     คณะที่ ๔ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. .... มีแนวคิดจัดการศึกษารูปแบบจัดการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกร สอดคล้องนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ส่งเสริมการจัดการศึกษาทั้งสถาบันอาชีวะภาครัฐและเอกชนที่มีประสิทธิภาพภายใต้ความหลากหลาย

     คณะที่ ๕ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างปรับปรุงพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษาเอกชน พ.ศ. .... 

     คณะที่ ๖ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้แทนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. อยู่ระหว่างปรับปรุงร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ดำเนินตามนโยบาย รมว.ศธ. ในการประเมินคุณภาพภายนอก สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงโดยไม่มีการแทรกแซง

     คณะที่ ๗ คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ผู้แทน สกศ. มุ่งเน้นยกระดับฐานข้อมูล Big data เพื่อบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และติดตามวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันสถานการณ์โดยปรับใช้รูปแบบการบริการของภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการ

     คณะที่ ๘ คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ผู้แทน สกศ. อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานการกลั่นกรองสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ยกระดับ E-Learning ที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่หน่วยงานกลางกำหนดนโยบายการพัฒนา Content และ Digital Platform 

     คณะที่ ๙ คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. …. ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อยู่ระหว่างยกร่างกำหนดหน้าที่และอำนาจของสถาบัน ฯ ที่มีความชัดเจนและสอดคล้องนโยบาย รมว.ศธ. 

     และคณะที่ ๑๐ คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษ พ.ศ. .... ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างยกร่างปรับปรุงจากฐานเดิม พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้การเรียนการสอนสอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของเด็กพิเศษ
.
     ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และมีการประกาศเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวออกไปเป็นสมัยประชุมต่อไปในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

.
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened
 https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6721425824535953

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด