ครูกัลยา สถาปนา สกศ.เข็มทิศประเทศไทย !

image

*รวมศูนย์ ThinkTank นโยบายการศึกษา   
#ดันโปรเจ็กต์พี่ช่วยน้องSmart Device


    วันนี้ (๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) มอบนโยบายการดำเนินงานประจำปี ๒๕๖๕ ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแก่ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) ที่ปรึกษาสภาการศึกษา พร้อมคณะผู้อำนวยการสำนัก/กลุ่ม ร่วมประชุมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) พร้อมสื่อสารนโยบายผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video TeleConference) ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 

 


     ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอต้อนรับ ดร.อรรถพล สังขวาสี ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาท่านใหม่ รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับ สกศ. ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เชื่อมั่นว่าข้าราชการ สกศ. มีศักยภาพสูงและเป็นความหวัง มั่นใจว่าจะช่วยกันนำพา สกศ. ก้าวไปข้างหน้าช่วยกันขับเคลื่อนงานในปี ๒๕๖๕ ที่มีความท้าทายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ประการแรกการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการประชุมในรัฐสภาเป็นไปตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ความคาดหวังของสังคมพุ่งเป้ามาที่การศึกษาของประเทศจะนำพาประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมาย 
.
     ในฐานะที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการ ๒ เรื่อง ๑.ส่งเสริมการเรียน Coding รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ กล้าลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยตนเองในเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมการอ่าน และเขียนอย่างมีวิจารณญาณ สอนให้เด็กอ่านและเขียนให้ได้เรื่อง สื่อสารได้ เป็นต้นทางนำไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันอนาคต อีกส่วนหนึ่งที่ทำควบคู่ไปด้วย ๒.โครงการวิทย์พลัง ๑๐ ส่งเสริมความรู้บนฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ นวัตกรรม หรือ สติ (STI) เป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ Coding ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ลดความเหลื่อมล้ำ เรียนได้จากทุกพื้นที่โดยครูสามารถประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กในท้องถิ่นไม่ว่าในเมือง บนภูเขาสูง หรือพื้นที่ชายขอบ เพิ่มคุณค่าในตัวเองและเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง Coding for All, All for Coding ขยายผลขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและทุกช่วงวัย ทั้งนี้ รมช.ศธ. ได้มอบนโยบายสำคัญแก่ สกศ. ดังนี้   
.
     ๑.การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนมาถึงจุดที่ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนทั้งหมด ต่อจากนี้ไปครูต้องทำหน้าที่ใหม่เป็นผู้อำนวยความสะดวก สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กได้เรียนสิ่งที่สนใจหรืออยากเรียน ครูเรียนรู้ไปกับเด็กด้วยและภาคภูมิใจในอีกบทบาทหนึ่งของพี่เลี้ยงสำหรับการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลให้สามารถใช้ความรู้ที่เรียนใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเรียนรู้จากนี้ไปต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนเก่งสอบได้อันดับ ๑ แต่ต้องเรียนรู้แล้วแก้ไขปัญหาได้สอดรับภารกิจ สกศ. ในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ศธ. จากกลุ่มสาระวิชาเป็นหลักสูตร "ฐานสมรรถนะ" เรียน ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาได้  
.
     ๒.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สกศ. ต้องรับภาระหนักทั้งจากการปรับเปลี่ยนหลักสูตร และการเปลี่ยนแปลงของทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในโลกสมัยใหม่ต้องให้ความสำคัญกับสติ (STI) ทุกคนในศตวรรษที่ ๒๑ เด็กต้องได้รับการเรียนรู้หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกฎหมาย ต้องปรับตัวเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ศิลปวัฒนธรรมต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จุดเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับ สกศ. ในการกำหนดหรือวางเข็มทิศการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา (STEM) ซึ่งได้มีการปฏิรูปให้เป็นสะตีมศึกษา (STEAM) เพิ่ม A คือ Art of Life การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้คน มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีคุณธรรมจริยธรรม รักศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เด็กไทยต้องมี STEAM มีการออกแบบความคิด การผลิตนวัตกรรมที่มีสเน่ห์และแข่งขันได้ในเวทีโลก 
.

     ๓.เร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมนานาชาติ ที่มีการประเมินผ่าน IMD และ PISA น่ายินดีที่ สกศ. รับเป็นเจ้าภาพในการจัดทำข้อมูลเพื่อเป็นข้อเท็จจริงในการพัฒนาอันดับที่ดีขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อบรมครูเข้าใจการปรับบทบาทใหม่เป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ Coding รวมทั้งการช่วยเหลือเด็กชั้น ม.๓ เพื่อเตรียมการเข้าสอบ PISA ในปี ๒๕๖๕ เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยที่ดียิ่งขึ้น                             .                             
    ๔.ในท่ามกลางยุคดิจิทัลซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ สกศ. ต้องระดมพลังความคิดจากทุกภาคส่วน เช่น เอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาไทยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพที่สะท้อนถึงภาคแรงงานไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ในยุคดิจิทัลร่วมกัน เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนที่ของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างเด็กที่เป็นนักคิด นักทำ นักวางแผน โดยมีทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน รองรับทิศทางการเปลี่ยนแปลง
.
     ๕.การก้าวสู่โลกแห่งดิจิทัล (Digital World) ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-๑๙ ทำให้ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น การเรียนออนไลน์ต้องไม่เป็นภาระกับพ่อแม่ที่มีปัจจัยปัญหา ๔ เรื่อง ๑.ปัญหา Hardware โดยเฉพาะปลายทางคือเด็กยังขาดอุปกรณ์สื่อสาร หรือมีแต่ไม่เพียงพอ สำรวจพบว่าระดับมัธยมศึกษาราว ๑ ล้านคน ที่ไม่มีอุปกรณ์การเรียน ผู้ปกครองเพียงร้อยละ ๕๐ เท่านั้นที่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ๒.ปัญหาเทคโนโลยีของเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่าย ๓.ปัญหา Content ต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล แต่ปัจจุบันยังเป็นตำรากระดาษที่ไม่รองรับในระบบ แม้ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการจัดทำโครงการ "โปรเจ็กต์ ๑๔" เพื่อแปลง Content อะนาล็อกสู่ดิจิทัลแต่ยังไม่เพียงพอ และ ๔.ปัญหาของครูที่มีราว ๑ แสนคน จากทั้งหมด ๔ แสนคน ซึ่งยังไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลมาใช้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ทั้งนี้มีความจำเป็นต้องสร้างความน่าสนใจต่อผู้เรียน น่าสนุก ไม่น่าเบื่อ 
.
     ดังนั้น สกศ. ต้องเร่งศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทั้ง ๔ เรื่อง เพื่อนำสู่การเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพและก้าวสู่สังคมการเรียนรู้ดิจิทัลที่ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การปรับการเรียนการสอนทั้ง ๕ ON (On Site การเรียนตามปกติได้ในบางพื้นที่ On Air การเรียนผ่าน DLTV ตามตารางออกอากาศ Online ครูจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ On Demand การเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ และ On Hand การมอบใบงานแก่นักเรียน) ของ ศธ. ทำให้สภาพการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในแต่ละพื้นที่ 
.
     "ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้บ่นแต่พูดถึงปัญหาให้ทราบ สกศ. ต้องกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว และจะเป็นศูนย์กลางการระดมความร่วมมือจากผู้ปกครอง สมาคมนักเรียนเก่าต่าง ๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย TDRI สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในแนวทางพี่ช่วยน้องได้มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ Smart Device ที่ให้ยืมใช้ได้ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรียนออนไลน์ได้" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวและว่า ยังต้องเร่งช่วยเหลือพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อสามารถนำไปปรับเปลี่ยนการสอนออนไลน์ร่วมไปด้วย ซึ่งเห็นว่าปี ๒๕๖๕ เป็นปีที่ท้าทายในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการดำเนินงานของ สกศ. แม้ว่าจะมีคนน้อยแต่ทำงานใหญ่ได้



.

     ทางด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ได้รับนโยบายหลายประเด็นสอดคล้องกับภารกิจ สกศ. ซึ่งขอน้อมรับแนวทางไว้ปฏิบัติภายใต้ความคาดหวังสังคมต่อ สกศ. ในการกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เข้ามาส่วนร่วมออกแบบแก้ไขปัญหาการศึกษา ซึ่งเข้าใจแนวคิด ดร.คุณหญิงกัลยา ถึงการสร้างคนไม่ใช่แค่ทางวิชาการและทดแทนด้วยวิชาชีวิตในช่วงที่ขาดหายไปจากสถานการณ์โควิด-๑๙ และเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดย สกศ. จะยกระดับคุณภาพเทียบเท่านานาชาติ พัฒนาการปรับอันดับที่ดีขึ้นทั้ง IMD และ PISA เพิ่มความสำคัญ STEAM และแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์ทั้ง ๔ ประการ ทำอย่างไรจะสามารถขับเคลื่อนการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และมอบ สกศ. เป็นศูนย์กลางประสานการช่วยเหลือด้าน Smart Device ตามแนวคิดพี่ช่วยน้อง

     "สิ่งที่เกิดขึ้นในการผลิตกำลังคนในช่วงที่ผ่านมามีแต่ทางวิชาการมากกว่าวิชาชีวิตที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะ และกีฬาควบคู่การศึกษาในทุกระดับเพื่อหล่อหลอมคนที่มีวัฒนธรรมที่รู้จักรากเหง้าของตนเอง สามารถคิดวิเคราะห์ มีวินัย มีร่างกายสมบูรณ์ ทำงานได้อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญการพยายามผลักดันให้เกิดการบูรณาการผลักดันสูเยาวชน และยกระดับคุณภาพ กำหนดทิศทางการศึกษาผลักดันให้คนทั้งประเทศเห็นว่า สกศ. เป็นเข็มทิศชี้นำประเทศได้" ดร.อรรถพล กล่าว

ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightenedhttps://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6608021959209674

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด