สกศ. กางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๗๐ ชูแนวคิด Unplug Coding ทักษะโลกยุคใหม่ สู่การปฏิบัติ

image

วันนี้ (๘ กันยายน ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ร่วมการประชุมชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๗๐ ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
 
 
.
 
 
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๗๐ ซึ่งเกิดขึ้นจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นผู้ดำเนินการในฐานะฝ่ายเลขานุการ ฯ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว พร้อมขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคาดหวังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านและเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน
.
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสริมความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๖ ปี ว่าเป็นลงทุนที่คุ้มค่าในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเริ่มตั้งแต่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ให้มีสุขภาวะที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับจากรัฐ ทั้งนี้เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Unplug Coding ทักษะที่โลกยุคใหม่ต้องการ คือการเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ผ่านการเล่น กล้าตัดสินใจ กล้าตั้งคำถามง่าย ๆ เพื่อใช้ชีวิตประจำวัน สร้างภูมิคุ้มกันการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองโลกในยุคดิจิทัล
.
หลังจากนั้น ที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ กระทรวง (พม.-มท.-สธ.) รายงานการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๗๐ โดย นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัด พม. กล่าวถึงการดำเนินงานระบบสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และดูแลระบบคุ้มครองเด็ก (Child Protection Information System : CPIS) โดยรับแจ้งเหตุเด็กที่มีความเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือต่อไป ต่อมา นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รายงานว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย โดยดำเนินการดูแลโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า ๒๐,๐๐๐ แห่ง และรับผิดชอบเด็กปฐมวัยกว่า ๘๗๐,๐๐๐ คน มุ่งเน้นการพัฒนาตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รวมทั้งดูแลการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าเครื่องแบบ และค่าอาหารกลางวันและนายแพทย์อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เสนอโครงการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ และหลังคลอดมีโครงการส่งเสริมการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการในช่วง ๑,๐๐๐ วันแรกของชีวิต รองรับการให้ความรู้ความเข้าใจกับมารดาในการให้นมบุตร รวมทั้งปฏิบัติการติดตามดูแล ให้คำปรึกษากับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านสุขภาพ ผ่านตัวชี้วัด 4D ได้แก่ ๑. Diet ด้านข้อมูลโภชนาการ ๒. Development & Play ด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัยและการเรียนรู้ผ่านการเล่น ๓. Dental ด้านสุขภาพช่องปาก และ ๔. Disease ด้านสุขภาพร่างกาย
.
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๗๐ โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา รายงานใจความสำคัญของแผนดังกล่าว ที่ยึดมั่นพัฒนาให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ ประกอบด้วย ๗ ยุทธศาสตร์ โดยสรุปดังนี้
.
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย เริ่มตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และเด็กปฐมวัยได้รับโอกาสเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม เช่น การสำรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย พ่อแม่ผู้ปกครองมีทักษะการดูแลและคุ้มครองสิทธิเด็ก (Parenting Skills)
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยสร้างระบบให้คำปรึกษา (Coaching) กับบุคลากรที่ดูแลเด็กปฐมวัย และส่งเสริมให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานอาชีพผู้ดูแลเด็ก และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ 
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศด้านเด็กปฐมวัยและการนําไปใช้ประโยชน์ ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดเป็น “ระบบกลางระบบเดียว” เพื่อความถูกต้อง ครอบคลุม และเป็นปัจจุบัน
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย มีระบบและกลไกในการรับเรื่อง ร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และดำเนินการทางคดีเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ จากการถอดบทเรียนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีวิธีปฏิบัติดีเด่น (Good Practices) ส่งเสริมให้มีการเทียบเคียง (Benchmarking) เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง
และยุทธศาสตร์ที่ ๗ การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดําเนินงาน และการติดตามประเมินผลหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นไปในทิศทางเดียวกัน
.
 ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลแผนดังกล่าว วางกรอบการทำงานระยะแรกในปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๕ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้และการดำเนินงานควบคู่ทั้ง ๔ กระทรวง และเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ผ่านกระบวนการจัดประชุมร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีรายละเอียดระดับโครงการและงบประมาณรายปีอย่างชัดเจนต่อไป

ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6426570700688135

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด