OEC Forum นัด ๗-๗ ส่องโลกดิจิทัลไล่ล่าอนาคตเด็กไทย งานรุ่ง IT-Automation มาแรง กูรูเอกชนแนะทลายห้องเรียน Matching เทรนด์เรียนรู้ตลอดชีวิตแก้โจทย์คนล้นงาน

image

     วันนี้ (๗ กันยายน ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๔ ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ หัวข้อ "ทิศทางและแนวโน้มการจัดการศึกษาเพื่อรองรับอาชีพแห่งอนาคต" โดยคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้แทนภาคผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมประชุมออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line, Blockdit : OEC News สภาการศึกษา หลอมรวมแนวคิดเร่งปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ที่มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงยกระดับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน  
 

     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จุดเน้นสำคัญของ สกศ. ในการจัดทำนโยบายการศึกษาคือการมีส่วนร่วมและรับฟังความคอดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมุมมองจากภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงการประกอบอาชีพที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอนาคตที่ทุกคนอยากเห็นการศึกษาเปิดโลกกว้าง รองรับการเรียนรู้ในหลายมิติ มีอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ มากมายในสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นทุกวัน รายงานของ WEF ชี้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ กระตุ้นให้เกิดงานอาชีพใหม่ ตำแหน่งงานมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะความต้องการกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูล การเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่รับมือความเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลียี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้วยทักษะใหม่ ๆ                           
.
     "ความท้าทายคือการปรับตัว แนวทางการเรียนรู้ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำลงมือ เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยวิเคราะห์เหตุผลด้วยความรู้ความเข้าใจ ส่วนครูต้องหาวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ คิดแบบก้าวกระโดด เป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่การสอนอีกต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่รองรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัล" ดร.อำนาจ กล่าวย้ำ 
 
      
 
          
 
             
 
        
 
        
             ล้อมวงสนทนาความเชื่อมโยงระบบการศึกษา-กำลังคนที่สะท้อนผลิตภาพประเทศไทยอนาคตผ่านมุมมองนักบริหารชั้นแนวหน้าประเทศ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย CEO หญิงคนแรกของเคแบงก์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย นางพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ดำเนินรายการโดย นายสุกิจ อุอินทุ กรรมการสภาการศึกษา สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
          โลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ปัจจัยในอาชีพที่เคยเชื่อว่างานธนาคารมั่นคงสูงแต่เมื่อมีระบบธุรกรรมออนไลน์เข้ามา ธุรกิจธนาคารก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย และมีการลดจำนวนคนทำงานลง อาชีพครูก็อยู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วมาก ไม่ใช่ยืนสอนหน้าห้อง แต่ต้องเป็นผู้ที่ใช้สื่อการสอนได้ทันสมัย สามารถค้นหาศัยภาพในตัวผู้เรียนเพื่อพัฒนาตามความถนัด ไม่ใช่เบ้าหลอมเด็กแบบเดิม ๆ อีกต่อไป ข้อมูลจากต่างประเทศรายงานว่าในปี ๒๕๗๓ หรืออีก ๑๐ ปีข้างหน้า จะมีอาชีพกว่า ๒ พันล้านอาชีพสูญหายไปและถูกแทนที่ด้วยอาชีพใหม่ ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ในเชิงธูรกิจพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป จึงทำให้เกิดธูรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น พบข้อมูลความต้องการจ้างงานในประเทศไทย ๓ อันดับแรกในปี ๒๕๖๔ ต้องการจ้างงานเทคโนโลยี (IT) ร้อยละ ๙.๖ สายงานการผลิต (Manufacture) ร้อยละ ๖.๒ และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง (Retail/Wholesale) ร้อยละ ๕.๕ รวมทั้งมีความต้องการจ้างงานนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency) ผู้บริหาร Omnichannel ซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบการทำการตลาดที่รวมทุกช่องทางการติดต่อให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งงานด้านการผลิตและสร้างสรรค์สื่อออนไลน์ Live Content Creator เช่น ยูทูบเบอร์ แม่ค้าออนไลน์ ฯลฯ 
.
       อย่างไรก็ตาม กำลังคนหรือแรงงานที่จะสามารถประกอบอาชีพในยุคดิจิทัลก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จุดเน้นสำคัญคือความต้องการ "ทักษะใหม่" ที่สอดรับกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้วิธีใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายและตอบโจทย์การทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ ที่ต้องผสมผสานหลากหลายทักษะร่วมกันทั้ง Hard skill Soft skill และ Meta skill มีทัศนคติที่ดี ควาคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่นทางความคิด ปรับเปลี่ยนไปสู่ Growth Mindset และ Outward Mindset ที่ใส่ใจการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้ ทั้งหมดเพื่อสามารถทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ (Automation) ได้ ภาคการศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่จะสอนอะไรให้กับเด็กที่เติบโตมากับเทคโนฯ สมัยใหม่ (Digital Native) ที่สามารถค้นหาความรู้ได้จาก Google หาความรู้เองได้โดยไม่ต้องถามครู 
.
     ฉะนั้น ครูต้องปรับเปลี่ยนเป็นผู้ชี้แนะแนวทางหาความรู้ให้กับเด็กและแนะนำหรือกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม หรือหาจุดเชื่อมโยงเพื่อให้ความเห็นและเชื่อมโยงให้เกิดองค์ความรู้ของตนเองได้ เด็กไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป และเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และโรงเรียนต้องทลายกำแพงเปิดโอกาสให้ชุมชน สังคม ผู้ประกอบการ เข้ามาส่วนจัดการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางเพิ่มทักษะเด็กให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพจริง เมื่อกล่าวถึงการศึกษาไม่อาจมองข้ามความเหลื่อมล้ำไปได้ ความกังวลคือการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาซึ่งแทบมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับการเลือกอาชีพในอนาคต 
.
     สิ่งที่ขาดไปคือจินตนาการของเด็กที่จะเห็นมุมมองของอาชีพใหม่ ๆ ประเด็นนี้ครูอาจารย์ต้องมองให้เห็นเสียก่อนจึงถ่ายทอดสู่เด็กได้ ในท้องถิ่นภูมิภาคการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยหลักสูตรแกนกลางบางวิชาที่ฉายภาพให้เห็นภาพรวมของทั้งประเทศเพื่อให้เด็กได้เห็นมุมมองอาชีพที่แตกต่างออกไปจากในพื้นที่ หลักสูตรต้องสอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่และจำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ (Device) เช่น แท็บเลต อุปกรณ์สื่อสาร เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา สิ่งที่ท้าทายการลงทุนจากต่างประเทศคือ คนที่มีสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตกำลังคน นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ปัญหาใหญ่อีกประการคือ การพลิกผันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) สิ่งที่กระทบตามมาคือการย้ายฐานการผลิต มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวการโยกย้ายฐานการผลิต ยังขาดความมั่นคง ทำอย่างไรจะเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมไทย กำลังคนคือทางรอดประเทศไทย 
.
     ปรากฎการณ์ทักษะไม่ตรงกับที่ภาคธุรกิจต้องการ (Skill mismatch) บางอาชีพตกงานทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่กำลังเติบโตสูง คือความท้าทายใหม่ของทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคการศึกษาที่ต้องเร่งผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงกับงาน/อาชีพในตลาดแรงงาน สะท้อนว่าคนผลิตกับคนใช้กำลังคน/แรงงานยังไม่สอดคล้องไม่ตรงกัน ดังนั้น ต้องเชื่อมโยงและหารือเพื่อกำหนดออกแบบหลักสูตรทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการพัฒนาทักษะ Upskill-Reskill อย่างตรงจุด วันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในบางคณะทางสังคมศาสตร์แทบไม่มีคนเรียน ซึ่งมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการและภาคการศึกษาต้องมาร่วมกันออกแบบหลักสูตรพัฒนากำลังคนไปด้วยกันในทิศทางเดียวกัน สร้างให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) โดยสรุปการศึกษาคือปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนพัฒนาภาคอุตฯ ตลาดเปลี่ยนความต้องการเปลี่ยน ภาครัฐต้องเดินร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างภาคการผลิตที่แท้จริง น่ายินดีที่รัฐบาลขับเคลื่อนเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเร่งสร้างความพร้อมทุกด้านทั้งกำลังคน และกำลังทุน ต้องไปด้วยกันช่วยกันต่อยอดการพัฒนาประเทศไทยอนาคต

  ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6421638021181403

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด