การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19

image

       วันพุธที่ 1 กันยายน 2564 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาออนไลน์ เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัย โดย รศ.ดร. มารุต พัฒผล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  โดยมี ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายนำ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  สำนักการศึกษา  กรุงเทพมหานคร  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  และผู้แทนหน่วยงาน/สถานศึกษาในภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  ผู้บริหารสถานศึกษา  ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา  เข้าร่วมการประชุมการประชุมสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ผ่านระบบ Cisco webex meeting จำนวน 500 คน รับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย Facebook ศธ 360 องศา และ Facebook ETV  Facebook BBEC และสถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน
 
 
 
       ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดวิกฤติทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยผลกระทบทางด้านการศึกษาที่เห็นชัดเจน คือ การปิดโรงเรียน การเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นทางไกลหรือออนไลน์ เป็นต้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในการจัดการศึกษา นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการจัดการเรียนรู้ ครูต้องปรับบทบาทใหม่ และสถานศึกษาต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้เรียนยังคงได้รับโอกาสการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ แม้จะปิดโรงเรียนภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดก็ตาม
       สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะองค์กรหลักด้านนโยบายและการวิจัยทางการศึกษา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการศึกษาวิจัยผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการศึกษา เพื่อลดผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อคุณภาพผู้เรียนให้มากที่สุด จึงได้ร่วมกับนักวิจัย ดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มารุต พัฒผล และคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนในสถานการณ์วิกฤติ และเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศในระยะยาว ด้วยความคาดหวังผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพที่สุด
 
 
     นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า การศึกษาวิจัย เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19 มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะและแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน และจัดทำข้อเสนอในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งข้อเสนอในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัด จะได้รับประโยชน์จากผลการศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานฯ นี้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ในแต่ละบริบทของพื้นที่ได้ต่อไป
 
      รศ.ดร. มารุต พัฒผล นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  กล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่า ลักษณะและแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) จำแนกเป็น 4 ประเด็นได้แก่ 1) แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน 2) แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน 3) แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน และ 4) แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน 
 
 
    แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนกับชีวิตประจำวันของผู้เรียนและการเรียนรู้ที่บ้าน เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความคิดรวบยอด โดยครูมีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชีวิตจริง โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่สร้างความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทั้งสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ และสื่อของจริง จัดแหล่งการเรียนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในลักษณะส่วนบุคคล โดยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะประเมินวินิจฉัยความเข้าใจที่ถูกต้องและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้เรียน และนำมาออกแบบกิจกรรมให้เรียนรู้รายบุคคล ประเมินกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการสังเกตพฤติกรรมและการประเมินผลงาน หรือประเมินความก้าวหน้าและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายลดการประเมินเพื่อการตัดสิน เป็นต้น
    แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน เช่น จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเปิด ที่ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเลือกปฏิบัติกิจกรรมตามความสนใจและพหุปัญญาของผู้เรียนรายบุคคล โดยครูจะต้องเอาใจใส่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการติดตามถามไถ่ผู้เรียนและผู้ปกครองเป็นระยะๆ กระตุ้นผู้เรียนให้มีวินัยในตนเองและให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ผู้เรียนเป็นรายกรณี ใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัวผู้เรียนหรือสิ่งของที่มีอยู่ในบ้านที่ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงได้ ใช้สื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้เรียน โดยวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองโดยใช้วิธีการง่าย ๆ หรือเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการประเมินบุตรหลานด้วยการสังเกตพฤติกรรมการตรวจสอบผลงาน โดยได้รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการประเมินผู้เรียนจากสถานศึกษา เป็นต้น
.    แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่โรงเรียน เช่น เชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนกับกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน เช่น การศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ เป็นต้น กรณีผู้เรียนสลับมาโรงเรียนควรเน้นกิจกรรมเติมเต็มความรู้ กิจกรรมซ่อมเสริมการเรียนรู้และเตรียมพร้อมการเรียนรู้ความคิดรวบยอดต่อไป โดยครูมีบทบาทกระตุ้นความอยากรู้ อยากทำ ด้วยการใช้คำถาม การจูงใจ หรือใช้สถานการณ์ที่อยู่ในความสนใจของผู้เรียน ให้คำแนะนำผู้เรียนเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เอาใจใส่ดูแลความก้าวหน้าทางการเรียนรู้ของผู้เรียนรายบุคล ใช้สื่อการเรียนรู้ที่กระชับ เข้าใจง่าย ส่งเสริมการเชื่อมโยงความรู้ และประเมินกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการสังเกตพฤติกรรมระหว่างการจัดการเรียนรู้ ซ่อมเสริมผู้เรียนทันทีในระหว่างที่ผู้เรียนอยู่โรงเรียน ให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างตรงประเด็น และให้กำลังใจผู้เรียน เป็นต้น
.   แนวทางการจัดการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาแบบเรียนรู้ที่บ้าน เช่น ผสมผสานวิธีการเรียนรู้ต่างๆ ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการศึกษาหนังสือ ตำรา แหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองร่วมกับเพื่อน แล้วใช้การเรียนรู้ร่วมกัน โดยครูมีบทบาทในการโค้ชผู้เรียนให้ใช้กระบวนการเรียนรู้ของตนเองอย่างหลากหลาย ผ่านช่องทางต่างๆ ตามความพร้อมของผู้เรียน ร่วมเรียนรู้ (Co-learning) ไปกับผู้เรียน เป็นเพื่อนคู่คิด คู่ปรึกษาให้คำแนะนำเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ใช้สื่อการเรียนรู้ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ที่ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างประหยัด หรือแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัวผู้เรียน โดยวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายและยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนประเมินตนเองโดยใช้เครื่องมือประเมินที่มีคุณภาพ และนำผลการประเมินมาพัฒนาตนเอง สะท้อนผลเชิงสร้างสรรค์ที่ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสูญเสียกำลังใจ เป็นต้น
.    ทั้งนี้ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมการประชุม จะนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงรายงานการวิจัยฯ ให้มีเนื้อหาครบถ้วน ครอบคลุม และมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา ครูผู้สอน หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป
    
     
 ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened   https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6416472588364613
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด