ครูกัลยา ถกสภาการศึกษานัด ๕ พัฒนาการศึกษาตอบโจทย์ SDGs

image

 
 
 
#Ed in Thai รีเทิร์น!สกศ.ปลื้มแจกสิ้นปี๖๔
*รีพอร์ตงาน๖ทีมอนุฯ-อินเทรนด์เรียนร่วมโควิด
.

        วันนี้ (๒ กันยายน ๒๕๖๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ ผ่านระบบประชุมวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) พร้อมคณะผู้บริหาร สกศ. ผู้แทนองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  
 

.
      ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมหารือกันกว้างขวางหลายประเด็น โดยพิจารณาวาระสำคัญคือ การจัดทำและเตรียมเผยแพร่รายงาน "Education in Thailand ๒๐๑๙ - ๒๐๒๑" ของ สกศ. ซึ่งเป็นรายงานทางวิชาการฉบับภาษาอังกฤษที่สำคัญและใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงเพื่อสังเคราะห์ภาพรวมการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านความเห็นชอบและได้รับการปรับแก้จากคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาสาระในรายงานได้รวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการศึกษาทั้งที่ดำเนินการภายใน สกศ. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องในระหว่างปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๔ อาทิ ข้อมูลสถิติทางการศึกษา การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปการศึกษา การจัดทำแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ ความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติและการเรียนรู้ ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
.
     สาระประโยชน์ของรายงานฉบับนี้นำเสนอในรูปแบบภาษาอังกฤษรวม ๘ บท ประมวลข้อมูลภาพรวมด้านการศึกษาของประเทศไทยในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา มาตรฐาน และการประกันคุณภาพการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดสรรงบประมาณและการลงทุนเพื่อการศึกษา การศึกษานานาชาติในประเทศไทยและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษา และท้ายสุดสรุปทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดย สกศ. จะได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มควบคู่รูปแบบดิจิทัล ๔ สี สวยงามเผยแพร่ไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรต่างประเทศ เครือข่ายนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนนักวางแผนนโยบายด้านการศึกษาใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงทางการศึกษาและต่อยอดแนวทางพัฒนาระบบการศึกษาไทยยุควิถีปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างตรงจุดประสงค์ 
 
 

 
       "กรรมการสภาการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะ และย้ำจุดเน้นการขับเคลื่อนศึกษาของเด็กและครูผู้สอนที่สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาดียิ่งขึ้นในยุคนิวนอร์มอล เช่น หลักสูตร Coding เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ มีวิจารณาณในการสืบค้นข้อมูลและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างมีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งการเรียนและดำรงชีวิตที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของประเทศด้วยการผลิตคนที่มีคุณภาพ รวมถึงเชื่อมโยงตัวชี้วัดการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เพิ่มเติมลงในรายงาน Education in Thailand เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
.
       ทั้งนี้ รายงาน Education in Thailand ฉบับอินเตอร์เล่มล่าสุดของ สกศ. นี้ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๐ ซึ่งแวดวงนักวิชาการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศยอมรับเป็นเอกสารวิชาการที่ทรงคุณค่าอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งสะท้อนฉากทัศน์สำคัญอนาคตของประเทศไทยที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี รวมถึงแผนการปฏฺิรูปประเทศด้านการศึกษา นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม    
.
      ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาและเห็นชอบแนวทางสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการที่มีข้อมูลในระบบกว่า ๗,๐๐๐ คน และเด็กด้อยโอกาส (เร่ร่อน) กว่า ๘๐๐ คน โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันในยุคโควิด-๑๙ ผ่านกลไกศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ภายใต้สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากคนพิการและเด็กเร่ร่อนปัจจุบันมีอัตราครูต่อนักเรียน ๑ ต่อ ๘๐ คน ทั้งที่ควรจะเป็นอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑๐ คน ซึ่งไม่สอดคล้องการจัดการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าพาหนะให้กับครูผู้สอนคนพิการและเด็กเร่ร่อนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะสอนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก ๆ และการเดินทางไปปฏิบัติงานระยะทางไกล และยากลำบาก เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ 
.
     รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุ กกส. ทั้ง ๖ คณะในรอบปี ๒๕๖๔ ที่สรุปรายงานต่อที่ประชุม มีหลายเรื่องน่าสนใจเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาการศึกษาได้ อาทิ คณะที่ ๑ ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ จัดทำดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (TLEI) คณะที่ ๒ ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้าทางการศึกษาอยู่ระหว่างยกร่างข้อเสนอแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คณะที่ ๓ ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา จัดทำข้อเสนอการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ในส่วนของความต้องการใช้ข้อมูลการผลิต การพัฒนา และการใช้ครูและบุคลากรทางการศึกษา
.
      คณะที่ ๔ ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัลของผู้เรียนอาชีวศึกษา คณะที่ ๕ ด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา กำลังจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของ ศธ. และคณะที่ ๖ ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะทางานขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษา และผลักดัน(ร่าง)พ.ร.บ.การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา 
.
      นอกจากนี้ ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการปรับแนวทางสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สกศ. อยู่ระหว่างวิเคราะห์แนวทางบริหารจัดการงบประมาณที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วน แหล่งเงินสนับสนุน และมาตรการรองรับการปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการศึกษาที่เชื่อมโยงกับผลการด้าเนินงาน สาระน่าสนใจมีหลายประเด็น เช่น ปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน ปรับเพิ่มตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินเพิ่มขึ้นราวปีละ ๘.๖๔ พันล้านบาท ปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามค่าใช้จ่ายจริง งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณปีละ ๓.๓๖ พันล้านบาท รวมทั้งมีข้อเสนอเพิ่มงบประมาณสนับสนุนค่าไฟฟ้าประมาณปีละ ๓.๕๑ พันล้านบาท สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับสนับสนุนเป็นการเฉพาะจากต้นสังกัดโดยเบิกจ่ายตามจริง ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำและไม่สามารถระดมเงินได้ เนื่องจากผู้ปกครองฐานะยากจน เป็นต้น

       ทางด้าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเสริมต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม ๑๓ หน่วยงาน และรายงานผลการจัดประชุมการวิจัยทางการศึกษาระดับชาติของ สกศ. ครั้งที่ ๑๖ "นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย" (OEC Symposium) ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีผู้ส่งผลงานวิจัยจำนวน ๓๘๕ เรื่อง ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๘๕ เรื่อง และได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน ๔ เรื่อง งานวิจัยระดับชมเชย จำนวน ๔ เรื่อง ปรากฎผลตอบรับดีและสำเร็จลุล่วงบรรลุตามเป้าหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

.

ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6395747173770488

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด