OEC Forum นัด ๖ Rotate มุมคิดประเมินครู-ต้องดูที่เด็ก กระตุก ผอ.รร. เลิกพิงการเมืองหันหน้าสู่ห้องเรียนอัปเกรดซูเปอร์สคูล อำนาจ คาดหวังผู้บริหารดี-คุณภาพการศึกษาดี

image

            วันนี้ (๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๖/๒๕๖๔ เรื่อง "ฟังเสียงผู้บริหารสถานศึกษา : ผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล" ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้สนใจ และสื่อมวลชน ร่วมประชุมออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line, Blockdit : OEC News สภาการศึกษา ต่อยอดความคิดในเชิงบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาออกไปอย่างกว้างไกล 
 
 
     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เมื่อเทรนด์การศึกษาเปลี่ยนและมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ วันนี้เปลี่ยนจากนักเรียนเป้นผู้เรียนรู้ เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงบริบทการเรียนรู้ ผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องใช้ระบบดิจิทัลมาสร้างการเข้าถึงการศึกษา ต้องพัฒนาทัศนคติ ทักษะ รองรับการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยปัจจุบัน สกศ. เจ้าภาพหลักขับเคลื่อนผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาในเร็ววันนี้ เป็นความรับผิดชอบให้เกิดความสำเร็จด้านกฎหมายการศึกษา ส่วนอีกเรื่องกำลังพยายามผลักดันตัวชี้วัดสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (IMD) ของประเทศไทยด้านการศึกษา อยู่อันดับ ๕๖ จาก ๖๓ ประเทศ ซึ่งต้องการบูรณาการขับเคลื่อนให้เกิดทีมไทยแลนด์สร้างพลังผลักดันอันดับที่ดีขึ้น การเปลี่ยนผ่านการศึกษาในยุคดิจิทัลเป็นวาระสำคัญที่ได้หารือในที่ประชุมสภาการศึกษา (กกส.) กระทั่งนำสู่การขับเคลื่อนโดยอาศัยพันธมิตรภายใต้ความเหมือนในความแตกต่างรวมพลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนพัฒนาการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น
.
       "ความคาดหวังการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้เห็นมิติการเปลี่ยนแปลงทั้งจากผู้บริหาร ครูผู้สอน ที่เชื่อมโยงระบบดิจิทัลต่างทั้งออนไลน์ ออนแอร์ มาช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากผู้บริหารดี ครูดี ร่วมกันวางมาตรฐานการจัดการศึกษาที่ดีย่อมนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ดีตามไปด้วย" เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว                 
 
 
 
 
 
     ในมิติความแตกต่างความคิด วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ของเหล่านักบริหาร บนเวที "ฟังเสียงผู้บริหารสถานศึกษา : ผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล" ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปกลไกและการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส นโยบายและการวิจัย มูลนิธิเอเซีย รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นางสาวนิศานาถ ธรรมเกษีรัตนา ผู้อำนวยการโรงเรียน The American School of Bangkok นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนเซนต์ยอห์น บอสโก บางขุนเทียน ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมสะท้อนบทบาท แง่มุมการบริหารจัดการ รวมทั้งความคาดหวังต่อการผลักดันงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี โดยดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.eduzones.com ร่วมผสานความคิดจนตกผลึก สรุปสาระสำคัญดังนี้

     กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำเป็นต้องมุ่งเป้าสำคัญที่มีความจำเป็น สร้างความร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง หลากหลายวิธี  บริหารที่ดีต้องกระจายออกไปกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตของจังหวัด หรือพื้นที่มากั้นขวาง โจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้ภายใต้วิถีปกติใหม่ (New Normal) จึงต้องเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งตนเอง อย่างไรก็ตาม เทรนด์การเรียนในยุคดิจิทัลมุ่งเน้นการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง ออนแอร์ (On-air) เรียนผ่าน DLTV ออนไลน์ (On-line) เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่สามารถรองรับได้ดีเท่าที่ควรซึ่งต้องการพัฒนาให้ครอบคลุมไปให้ถึงในพื้นที่ห่างไกล 

        งานวิจัยของมูลนิธิเอเซีย ทำไมผู้บริหารการศึกษาไทยจึงไม่สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเป็นอีกความท้าทายความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในห้องเรียน ปรากฎข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประเด็นต่อบทบาทผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.รร.) ทั้งในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีคุณวุฒิการศึกษาสูงขณะที่ประสบการณ์ในการบริหารยังน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่มีอายุน้อยและมีประสบการณ์ในการทำหน้าที่ครูผู้สอนไม่มากนัก ร้อยละ ๒๘ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานวิชาการ ทว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์พันธกิจของโรงเรียน จัดหลักสูตรการเรียนการสอน และการส่งเสริมความก้าวหน้าความเป็นครู แต่กลับไปมุ่งดันคะแนนวัดผลระดับชาติ ล่ารางวัล ทอดทิ้งการสอนในห้องเรียน และมอบการตัดสินใจไว้กับผู้บริหารที่สูงกว่าในระดับกระทรวง ต้องการเลื่อนขั้นจากโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่โรงเรียนขนาดใหญ่ พบข้อจำกัดในหลายอย่าง เช่น ขาดความมั่นใจในการนิเทศติดตามครู รวมถึงขาดทรัพยากรสนับสนุนในการพัฒนาโรงเรียน 

    ความท้าทายของงานวิจัยดังกล่าว ผอ.รร. มีมุมมองความเป็นผู้นำมุ่งเน้น "การเมือง" มากกว่าเป็นผู้นำ "การบริหารจัดการ" หรือผู้นำ "วิชาการ" ที่ควรจะเป็นตามหลักการ เพราะมีสายการบังคับบัญชาที่ยาวและกฎหมายที่คลุมเครือ เส้นทางความก้าวหน้าผู้ติดกับดุลยพินิจของคนจำนวนมาก อย่างไรก็ตามไม่มีโมเดลเดียวสำหรับผู้นำทางวิชาการซึ่งต้องบูรณาการอย่างรอบด้าน ซึ่งจำเป็นที่ต้องปรับปรุงกฎหมายระเบียบ สนับสนุนทรัพยากร สนับสนุนบทบาทความเป็นผู้นำทางวิชาการที่มากขึ้น สร้างความไว้ใจในระบบโรงเรียนและเชื่อมั่นในภาวะผู้นำของ ผอ.รร. จึงสามารถหลอมรวมผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพที่แท้จริง                                        

     อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกผู้เข้าสู่วิชาชีพครูไทยยังมีปัญหาบางประการที่มีมายาคติบางอย่างฝังรากลึกในความคิดของผู้ที่อยากจะเป็นครู เกณฑ์อัตรากำลังครูยังไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานที่แท้จริง อัตราครูต่อสัดส่วนนักเรียนยังไม่สอดคล้องความเป็นจริง จำนวนครูราว ๔ แสนคน พบอัตราการสอบแข่งขัน ๕:๑ ที่หวังสอบเลื่อนขึ้นเป็น ผอ.รร. กรอบแนวคิดขับเคลื่อนการพัฒนาครูจุดเริ่มต้นที่โรงเรียน ต้องไม่ดึงครูออกจากห้องเรียน แน่นอนที่สุดครูคือปัจจัยสำคัญที่สุด โดยสิ่งที่จะช่วยพัฒนาครูก็คือการสร้างความก้าวหน้าทางวิทยฐานะครูที่มั่นคงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดย ก.ค.ศ. ปรับมาใช้ระบบการประเมินผลการปฎิบัติงาน (Performance Agreement : PA) เป็นความก้าวหน้าที่มาจากผลงานการสอนที่มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพผู้เรียนที่มีผลงานเชิงประจักษ์ 
     วุฒิภาวะของ ผอ.รร. คือสิ่งสำคัญ ต้องเป็นทั้งผู้นำความเปลี่ยนแปลงและผู้นำวิชาการ สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารที่มีประสบการณ์มากขึ้น แต่ละปีมีความต้องการ ผอ.รร. ประมาณ ๓ พันคน หรืออัตราส่วนประมาณ ๔:๑ ซึ่งมีการปรับใหม่ลดสัดส่วนลงเหลือ ๓:๑ นอกจากนี้ ยังปรับหลักสูตร/ระบบการอบรมก่อนแต่งตั้งเป็น ผอ.รร. ผ่านการพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น Upskill-Reskill ตั้งแต่ระดับครูผู้สอน ก่อนมาเป็น รอง ผอ.รร. เพื่อสั่งสมประสบการณ์อย่างรอบด้าน กระทั่งเมื่อเลื่อนขึ้นเป็น ผอ.รร. ต้องรับหน้าที่ขับเคลื่อนงานทันที ต้องกล้าเปลี่ยน สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันในการทำงาน กล้าใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายและพันธมิตรรอบโรงเรียนเข้ามาส่วนร่วมพัฒนานักเรียน เปลี่ยนวัฒธรรมความคิดทำงานเพื่อประโยชน์นักเรียนไม่ใช่ตัว ผอ.รร. และมาร่วมสอนสร้างทีมสอนหรือสังเกตการสอนร่วมกับครู นิเทศการจัดการเรียนการสอนให้ครู วันละ ๑ ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ ๕ ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการก้าวสู่ผู้นำวิชาการต้องคลุกคลีกับห้องเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง 
 
     เมื่อมองผ่านไปถึงการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชน พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก เฉพาะค่าจ้างครูเพียงคนเดียวต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงปีนับล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเปิดโรงเรียนหลักสูตรนานาชาตินั้นต้องไม่ลืมความเป็นไทย เคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ตามแบบอย่างที่ดีของวัฒนธรรมไทยเป็นการจัดการศึกษาที่หลากหลายพหุวัฒนธรรม (Multi-culture) เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การศึกษาไทยนั้นผ่านวิกฤตมามากมายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงสถานการณ์โควิด-๑๙ แต่ต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจัดหลักสูตรต้องพลิกแพลงอย่างทันสมัยตอบเพื่อตอบสนองการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ ตลอดเวลา ในส่วนการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของโรงเรียนเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของทั้งผู้ปกครอง นักเรียน และครูผู้สอน กว่าจะสังเคราะห์จนกระทั่งได้ "เป้าหมาย" มุ่งมั่นผลักดันนักเรียนต้องมีความอดทน มองโลกอย่างถูกต้อง เป็นพลเมืองที่ดีของโลก และสามารถสื่อสารได้ดี กลายเป็นปณิธานร่วมกันจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจะเป็นแรงขับเคลื่อนปณิธานร่วมที่นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปด้วยกัน 
               
     สิ่งที่นำสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้คือความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อปัญหา ความคิด หรือสภาพวิถีชีวิตของนักเรียนในพื้นที่ ผอ.รร. ต้องเข้าใจเป้าหมายของตนเองและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน สร้างกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บ่มเพาะ ต่อยอด กระทั่งผลิดอก จนมองเห็นปลายทางเด็กสามารถเลี้ยงต้นเองได้จากอาชีพที่ถนัด ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่แค่การได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น สุดท้ายครูต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดสอนให้เด็กเรียนรู้มากกว่าสอนให้รู้เท่านั้น ขณะที่บทบาทความเป็นผู้นำสถานศึกษาระดับศูนย์การเรียนการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย มีเป้าหมายคือการนำเด็กไปสู่การมีอาชีพ การศึกษาในระบบไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้เรียนว่าแบบไหนเหมาะสมกับตัวเขามากที่สุดเท่านั้นการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ในการวัดผลประเมินผลมากกว่าใช้การสอบด้วยข้อสอบ ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากจากการสังเกตผลการเรียนรู้ของเด็กผ่านการมอบอำนาจการเรียนให้เด็กเรียนรู้ตนเองอย่างเต็มที่ ข้อท้าทายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาจากเด็กที่จบการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยมีคุณภาพไม่แตกต่างจากผู้จบการศึกษาตามระบบปกติ นอกจากนี้ ยังต้องเปลี่ยนการเมืองเป็นการพัฒนาในตัว ผอ.รร. ประสานเครือข่ายความสัมพันธ์มาต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened https://www.facebook.com/media/set/?vanity=627180797293850&set=a.6384280541583818

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด