ตรีนุช นำเปิด OEC Symposium ครั้งที่ ๑๖ มหกรรมเวทีกลางดิจิทัลต่อยอดงานวิจัยร่วมปฏิรูปการศึกษาตอบโจทย์ Megatrend ระหว่าง ๒๖ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

image

     วันนี้ (๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมการวิจัยทางการศึกษาระดับชาติของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑๖ "นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย" (OEC Symposium) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เครือข่ายวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line, Blockdit : OEC News สภาการศึกษา ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ 

     นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐ ดังนั้น ควรมุ่งเน้นบุคลากรที่มีความสามารถสร้างเครือข่ายการทำวิจัย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบเปิดที่บูรณาการวิจัยร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีความหลากหลาย และส่งเสริมกระตุ้นให้นำงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาไปใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 

 .    
     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ส่งเสริมและกระตุ้นงานวิจัยทางการศึกษานำไปสู่การพัฒนานโนบายการศึกษาของชาติ พร้อมขับเคลื่อนใช้งานวิจัยต่อยอดพัฒนาการศึกษาต่อยอดการพัฒนาประเทศไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์ OEC Symposium ครั้งที่ ๑๖ เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย เผยแพร่องค์ความรู้ และส่งเสริมขวัญกำลังใจแก่นักวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ปีนี้มีผู้ส่งผลงานวิจัยจำนวน ๓๘๕ เรื่อง ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๘๕ เรื่อง และได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน ๔ เรื่อง งานวิจัยระดับชมเชย จำนวน ๔ เรื่อง 
.
     ความพิเศษของ OEC Symposium เป็นปีแรกที่มีการประชุมผ่านสื่อดิจิทัลในสถานการณ์โควิด-๑๙ พร้อมจัดนิทรรศการ บรรยายพิเศษ ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ นำเสนองานวิจัยที่มีความหลากหลายตอบสนองการศึกษาตลอดชีวิตของทุกช่วงวัย เน้นงานวิจัยคุณภาพ มีการอภิปรายงานวิจัยทั้งระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาที่เน้นพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการศึกษาผู้สูงวัย ผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ การผลิตพัฒนาครู และพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอน ส่งเสริมผู้เรียนสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐเป็นเจ้าภาพร่วมและส่งผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนอนุเคราะห์เนื้อหาในการจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาสอดรับสถานการณ์โควิด-๑๙ สกศ. คาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยการศึกษาเพื่อส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่ก้าวหน้าต่อไป         

       โอกาสนี้ในการบรรยายพิเศษเรื่อง "เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาในยุคดิจิทัล" คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัย ความพร้อมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และระบบการศึกษา ยังต้องการปรับตัวอย่างมโหฬาร โดยน้อมนำพระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ ความว่า "ครู คือ ปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ครู คือ มนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนที่จะพัฒนาคุณลักษณะของตนเองและสร้างค่านิยมต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ สามารถมาแทนที่ครูได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว นั่นคือว่าทำไมครูที่ดีจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ได้ ด้วยการพัฒนาพวกเขาให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีความสามารถ ทั้งในระดับชาติและระดับเป็นพลเมืองของโลกด้วย” 
 .
     อย่างไรก็ดี ไม่เชื่อว่าเด็กจะเรียนและเติบโตมากับคอมพิวเตอร์ได้เพียงอย่างเดียว แต่พ่อแม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยคนและคอมพิวเตอร์ไปพร้อมกันได้ การเรียน Online เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีรูปแบบการเรียนอื่น ๆ ทั้ง On Hand หรือ On Site พ่อแม่ควรสละเวลาสร้างมนุษยสัมพันธ์โดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมอยู่กับลูกด้วย เทคโนโลยีมีส่วนดีมากแต่ควรส้รางให้เกิดความเชื่อมโยงในชีวิตประจำวันของเด็กด้วย ตัวอย่างในจีนให้เด็กเรียนออนไลน์แค่ ๒๐ นาที แต่มอบหมายให้เด็กไปคิดหาวิธีช่วยลดภาระของพ่อแม่ เช่น การล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ ที่แคนาดา จัดสรรงบประมาณให้เด็กได้นันทนาการนอกบ้านส่งเสริมการเรียนรู้ เล่านิทาน เที่ยวสวนสาธารณะ ส่งเสริมการเรียนรู้สภาพรอบตัว เล่นเป็นและมีความรู้ ตั้งโจทย์ให้เด็กคิดและลงมือทำ ใช้เวลาแค่ ๕ - ๑๐ นาที ใช้อุปกรณ์เครื่องครัวในบ้านเป็นสื่อการสอนเด็กอย่างสนุกและสร้างสรรค์    
.
     นอกจากนี้ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย Coding For All อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๒ ปี ประสบความสำเร็จ มีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในหลายภาคส่วนอย่างเป็นระบบ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การโควิด-๑๙ แต่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเร่งกระจายการเรียนรู้ Coding ไม่เฉพาะแต่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด เชื่อว่า Coding คือ ทางรอดของทุกเรื่อง ทางรอดของทุกวิกฤตหากมีความรู้เรื่อง Coding แล้วจะเผชิญหน้าและผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ต้องเร่งสร้างองค์ความรู้และปลูกฝัง Coding ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน โดยใช้ภาคการศึกษานำและใช้กลไกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง

 



      OEC Symposium ครั้งที่ ๑๖ จัดการประชุมต่อเนื่องระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วย ๑ ห้องหลัก และ ๖ ห้องย่อย วันแรกมีการเสวนาวิชการ เรื่อง "นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย" ได้รับเกียรติ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.คมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ดำเนินรายการ โดยแบ่งหัวข้อการนำเสนอผลงานวิชาการอย่างหลากหลาย เปิดโอกาสผู้สนใจสามารถเลือกคลิ๊กลิงก์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อที่สนใจ อาทิ การจัดการศึกษาปฐมวัย เด็กที่มีความต้องการพิเศษ การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ หลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ การพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาการพัฒนาอาชีวศึกษา นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ความร่วมมือด้านการศึกษาของยูนิเซฟ การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ การมีส่วนร่วมทางการ
ศึกษา และการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายการศึกษาของ สกศ. เป็นต้น 
.
     ขณะที่โปรแกรมเด็ด OEC Symposium วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีการนำเสนองานวิจัย "การขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายการศึกษา สกศ." ที่สะท้อน ๗ มุมมองการพัฒนานโยบายผ่านงานวิจัยนำสู่การปฏิบัติ อาทิ ๑.การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี ๒๐๔๐ ๒.การพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้วยการเชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอนกับมาตรฐานอาชีพ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๓.การประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย ๔.สภาวการณ์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในบริบทประเทศไทย ๕.รายงานการศึกษาแนวทางการยกระดับคุณภาพการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย ๖.แนวทางการพัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : "ความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ" และ ๗.การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการ และเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พร้อมปิดท้ายด้วยการมอบโล่รางวัลดีเด่นและชมเชยแก่ผู้วิจัยที่โชว์ผลงานเป็นที่ประจักษ์

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด