OEC Forum นัด ๕ ถกพัฒนาคนอนาคต บ้านปู-ทรู-เซ็นทรัล ยกระดับไอเดีย เอกชนแชร์นวัตกรรม-รัฐดันโยบาย อำนาจ หนุนเร่งตั้งซูเปอร์บอร์ดต่อยอดการศึกษาชาติฉลุย

image

.     วันนี้ (๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) มอบหมายรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ทำหน้าที่ประธานเปิดการประชุมวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔ เรื่อง "บทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาในยุคดิจิทัล" ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ประชาชนผู้สนใจ และสื่อมวลชน ร่วมประชุมออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อวิพากษ์จากผู้ติดตามชมผ่าน Inbox message ต่อยอดแนวทางพัฒนาคุณภาพคนสะท้อนนำไปสู่คุณภาพประเทศอย่างกว้างไกล  
 
 
 
 
     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กล่าวถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนผลักดันขับเคลื่อนการศึกษา โดย สกศ. ได้ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างแนวคิดต่อสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทะลายไซโลให้เป็นของทุกคน กลไกขับเคลื่อนต้องร่วมมือกันในหลากหลายมุมมองเพื่อสังเคราะห์นำไปปรับใช้ในนโยบายและผลักดันมิติการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาอย่างตรงเป้าหมายและเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญการแก้ไขลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเมื่อมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หรือซูเปอร์บอร์ด เกิดขึ้นตามกฎหมายใหม่จะช่วยเพิ่มพลังขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป   
   
   
     ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า OEC Forum ดำเนินมาถึงครั้งที่ ๕ แล้ว ขณะนี้ สกศ. ดำเนินการจัดทำนโยบายและขับเคลื่อนการศึกษาในหลายด้าน มุ่มเน้นการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่สามารถปฏิบัติได้จริงในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรา ๕๔ วรรค ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น ภาคเอกชนจึงเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการพัมนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ในท่ามกลางสถานการณ์โคิด-๑๙ ทั้งภาครัฐ-เอกชนต้องปรับตัวร่วมกันถือเป็นความท้าทายการยกระดับพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันนำไปสู่การจัดการศึกษาที่สอดคล้องสถานการณ์วิถีปกติใหม่ (New normal) ปัจจุบัน
 
 
 
 
 
     ในห้วงการเสวนาประเด็น "บทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาในยุคดิจิทัล" กูรูจากภาคเอกชน ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส Sustainable Development บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ดร.วรวุฒิ ไชยศร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษาชื่อดัง www.eduzones.com ต่างแสดงวิทัศน์ร่วมพัฒนาระบบการศึกษาที่ตอบสนองโลกของงานอนาคต ปรากฎสาระสำคัญ ๓ เรื่อง ๑.มุมมองการศึกษาไทย ๒.สิ่งใดควรพัฒนาการศึกษาไทย และ ๓.ข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาควรเป็นอย่างไร นำเสนอดังนี้     
.
     มุมมองในฐานะภาคเอกชนมีความแตกต่างจากภาครัฐต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทย มีการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางประชารัฐ มีการวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษาที่มีความก้าวหน้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมา มีการออกออกหมายที่ส่งเสริมสนับสนุน เช่น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ๒๕๖๑ พ.ร.บ.การพัฒนาปฐมวัย ๒๕๖๒ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ๒๕๖๒ รวมทั้งกำลังขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ฯลฯ อีกทั้งมีการส่งเสริมหลักสูตรฐานสมรรถนะ ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาและโรงเรียนของภาคเอกชนและประชาสังคม 
.
     สิ่งเหล่านี้ต้องร่วมกันสร้างสรรค์ทั้งการบริหารบุคลากรทางการศึกษา และการขับเคลื่อนนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน ภายใต้ตัวเร่งเร้าสำคัญคือโควิด-๑๙ ทั้งหมดคือโอกาสในท่ามกลางความยากลำบากที่ท้าทายความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนต่อเนื่อง และเปิดวิสัยทัศน์ผู้บริหารการศึกษาไทยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ๔ รอบ กำลังเผชิญความท้าทายคุณภาพการศึกษาที่สังคมฝากความหวังกับ ศธ. ที่รับภาระใหญ่การผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องทั้งเก่งและมีสมรรถนะสูงเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กทั้งประเทศเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง 
.
      ทั้งนี้ ระบบการศึกษาไทยวันนี้มีผู้รู้จำนวนมากและหลากหลายมิติความคิดแต่ยังไม่พลิกผันไปมาต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารก็เปลี่ยนนโยบายตามไปด้วยทิศทางการศึกษาจึงยังไม่ชัดเจนยังวนเวียนแบบเดิม ๆ ทางออกประการหนึ่งคือนโยบายประชารัฐคือสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ครู หรือ ศธ. เท่านั้นที่แบกรับภาระการศึกษาไว้แต่ไม่ทันและไม่พอ เพราะทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ร่วมกันคิด ร่วมวางแผนร่วมกันทำ และร่วมประสบความสำเร็จด้วยกัน 
.
     ถือเป็นความจำเป็นร่วมกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการผลิตคนไทยที่ต้องเท่าทันนานาชาติ ภายใต้แนวคิดกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การรวมศูนย์ที่ ศธ. หรือส่วนกลางอีกต่อไป ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีแม้กระทั่งนักเรียนยากจนพิเศษในช่วงโควิด-๑๙ ที่ยิ่งยากจนและยากลำบากกว่านักเรียนยากจนปกติที่พบมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือต้องสร้างการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องและทันสมัยกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก  
.
     ความพยายามแก้ปมหรือไขปัญหาการศึกษาไทยมีมาตลอด จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนทุก ขนาดที่มีมากกว่า ๓ หมื่นแห่งทั่วประเทศ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดวัฒนธรรมการศึกษาที่ยั่งยืน และสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งโรงเรียนและชุมชน บทบาทของภาคเอกชนนั้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งมองว่าความท้าทายขององค์กรในอนาคต ๕ เรื่อง ๑) การปรับคนให้มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ๒) การขาดแคลนทักษะแรงงาน ๓) ช่องว่างระหว่างวัย ๔) การสร้างระบบที่มีมาตรฐาน และ ๕) การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี 
.
     สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างวัฒนธรรมการศึกษา ควรมุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากปรับระบบการศึกษาไทยให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันจะเสริมพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี เริ่มที่การเปลี่ยนผู้นำการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และเปลี่ยนความคิดเริ่มต้นที่ตัวเรา ขับเคลื่อนผู้ปกครอง และเด็ก เรียนรู้ร่วมกันกับครูผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ ต้องรู้เท่าทัน สร้างการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งและยั่งยืนทั้งผู้เรียนและผู้สอนการศึกษาเปรียบเสมือนแม่น้ำสายหนึ่ง สิ่งที่เราเผชิญปัจจุบันคือแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามาคือความร่วมมือระดมทั้งทรัพยากร และความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพายเรือลำนี้ 
.
     วิธีที่ขับเคลื่อนและได้ผลแล้วคือ การพัฒนาหลักสูตรกับโรงเรียนเครือข่าย และร่วมเป็นคณะผู้บริหาร หรือบอร์ดโรงเรียน เพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่ต้องพึ่งกับส่วนกลางของภาครัฐ ปรับโฉมให้โรงเรียนเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ของท้องถิ่นในการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เช่น โคก หนอง นา โมเดล ท้ายที่สุดเพื่อปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับระบบการศึกษาที่สร้างผลลัพธ์ใหม่คือการสร้างอาชีพมาต่อตลาดแรงงานไทย มีงานทำ มั่นคง ไม่ใช่แค่เรียนเก่งแต่ในตำรา
.
     การเติบโตทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือจุดแข็งของภาคเอกชนที่ส่งเสริมการเรียนการสอนในอนาคตสอดรับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลนั้น ผู้บริหารการศึกษา ครู และวัฒนธรรมการศึกษา ตลอดจนเครื่องมือเทคโน ฯ ส่วนส่งเสริมให้เกิดความหมุนเวียนลื่นไหลขับเคลื่อนต่อไปได้ ประสบการณ์จากยุคปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาผ่านโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) รวมถึงโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เป็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา เริ่มต้นที่เปลี่ยนความคิดคน (Mindset) ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ ต้องเตรียมพร้อมคนเพื่อมุ่งไปข้างหน้า จากเดิมเป็นการให้ทุนแต่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็นการให้นวัตกรรมแก่ระบบการศึกษา ส่งเสริมการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ผู้เรียน หรือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลยุทธ์กีฬา หรือบอร์ดเกม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กควบคู่ไปกับการเรียนหลักสูตรปกติ 
 .
     นอกจากนักการศึกษาได้ประโยชน์แล้วในแวดวงนักบริหารธุรกิจและคนทำงานยังได้ประโยชน์จากการยกระดับพัฒนาการศึกษาไทยไปสู่ความยั่งยืนที่มองไกลขึ้นของคนทั้งประเทศและทั่วโลก มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษามากกว่าปริมาณ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholders) เช่น โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ฯลฯ ไม่ทอดทิ้งระบบบ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร เข้ามามีส่วนร่วมเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SDGs) อยู่บนขาของตนเองได้ ทำด้วยกันและทำด้วยใจภายใต้แนวคิดสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values) เป้าหมายสูงสุดคือให้เด็กนักเรียนมีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างชุมชน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ได้เฉพาะพัฒนาการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความต่อเนื่องและโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความต่อเนื่อง 
.
     ทั้งนี้ คุณภาพการศึกษาที่ลดลงกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั้งด้านผลกระทบต่อรายได้ในอนาคตจากผลิตภาพแรงงานที่อาจลดลง ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมภาครัฐควรพัฒนาช่องทางการเรียนออนไลน์ที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาในมิติอื่น ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตให้ครอบครัวนักเรียนที่ขาดแคลน การปรับหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสม การจัดคอร์สเรียนเสริมแก่ทั้งครูและเด็ก รวมถึงการพิจารณาลดค่าเล่าเรียนอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-๑๙

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด