รูปแบบกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

image

     วันนี้ (วันที่ 18 สิงหาคม 2564) ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาออนไลน์ เรื่อง รูปแบบกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวกานดา ชูเชิด  ผู้อำนวยการ  กองทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รศ.ดร. วิชุดา กิจธรธรรม และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้แทนจากเขตพื้นที่การศึกษา ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมการประชุม จำนวน 228 คน โดยมีนายสำเนาเนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวรายงาน

     ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในยุทธศาสตร์ชาติที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนแม่บทด้านการพัฒนาการเรียนรู้ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ด้วยการกำหนดแนวทางพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาผ่านครอบครัว และสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและตลอดทุกช่วงวัย เพื่อให้คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพเต็มตามศักยภาพ ตามความถนัด และความสามารถของพหุปัญญา การจัดการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้ตรงตามความถนัด ตามศักยภาพ และสามารถพัฒนาพหุปัญญาของผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน คุณภาพการศึกษา และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญหรือความเป็นเลิศในสาขาต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต ดังนั้น การศึกษาวิจัยรูปแบบและกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในวงการศึกษาให้ความสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย 

     นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ร่วมกับกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำการศึกษาวิจัยรูปแบบและกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบและกลไก และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบ กลไก และข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปรับปรุงข้อเสนอเชิงนโยบายหรือข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

     รศ.ดร. วิชุดา กิจธรธรรม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยรูปแบบและกลไกการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในครั้งนี้ได้ให้นิยามของพหุปัญญาว่า “เชาวน์ปัญญาหรือความสามารถทางสมองของผู้เรียนที่ส่งผลต่อการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหาการเรียนรู้ และการดำรงชีวิตของผู้เรียน” ประกอบด้วยพหุปัญญา 9 ด้าน คือ 1. ด้านภาษา 2. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ 3. ด้านมิติสัมพันธ์ 4. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว    5. ด้านดนตรี   6. ด้านการเข้าใจระหว่างบุคคล 7. ด้านการเข้าใจตนเอง 8. ด้านธรรมชาติวิทยา และ 9. ด้านการดำรงอยู่ของชีวิต 
     ผลการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย A2D โมเดล (A ตัวแรก คือ Area ตัวที่สอง คือ Activity และ D คือ Digital Platform) มีกลไกการขับเคลื่อน จำนวน 8 กลไก คือ 1. สายสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูหรือผู้ปกครอง 2. สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม 3. พีระมิดการเรียนรู้ 4. การเรียนรู้เชิงรุกของผู้เรียน 5. แรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ 6. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อย 7. การใช้เทคโนโลยีในการทำกิจกรรม และ 8. การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน และข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน เช่น การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนด้านการจัดการเรียนรู้ยุคดิจิทัล การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เชิงรุก การส่งเสริมบทบาทของภาคชุมชนและเอกชนในการพัฒนาผู้เรียน การใช้สารสนเทศจากการคัดกรองพหุปัญญาเป็นฐานในการพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลและในภาพรวมของประเทศ เป็นต้น

     ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้แทนสถานศึกษา ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมากและเป็นประโยชน์ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและคณะนักวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด