OEC Forum เสวนาออนไลน์นัด ๔ ระดมสมองพัฒนาลูกสมวัย-สมองดีมี EF พลิกมิติ Ecosystem เปิดวิชั่นแนวร่วมก่อการสันดานดีที่สร้างสรรค์

image

 วันนี้ (๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ เรื่อง "EF กับเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล" โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) คณะผู้บริหาร สกศ. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปฐมวัย ผู้แทนสถานศึกษา นักวิชาการ ครูปฐมวัย และกลุ่มผู้ปกครองเด็กเล็ก ร่วมประชุมผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ภายใต้มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา เผยแพร่ขยายวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

 
     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง และเป็นแผนที่ปฏิบัติได้จริง ดังนั้น การสื่อสารระดมความคิดเห็นผ่าน OEC Forum วันนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่มีความหลากหลายนำไปสู่การจัดทำนโยบายการศึกษาที่ตรงกับการจัดการศึกษาในด้านต่าง ๆ ตลอดช่วงชีวิต เชื่อมั่นว่าทิศทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีมาก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทุกวันนี้การพัฒนาเด็กเล็กไม่ได้มีแค่พัฒนาการ ๔ ด้าน สังคม อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง หรือ EF : Executive Function ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเด็กเล็ก นำไปสู่การวางรากฐานเด็กที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการบูรณาการร่วมกับแผนการขับเคลื่อนเด็กปฐมวัยต่อเนื่องกันทุกกระทรวง 
.

 
     "แม้จะยากลำบากในสถานการณ์โควิด-๑๙ แต่ก็ยังเป็นความท้าทายจากการเรียนการสอนออนไลน์ อีกทั้งครูยังเป็นปัจจัยสำคัญต้องปรับบทบาทหน้าที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความราบรื่นและไม่ขาดตอนในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ๒๕๖๑ จากความร่วมมือทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดทำนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" ดร.อำนาจ กล่าว 
 
  
 
       สกศ. ได้รับเกียรติจาก ๒ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย คือ นางสุภาวดี หาญเมธี กับ นางธิดา พิทักษ์สินสุข พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาในประเด็น "EF กับเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล" ปรากฎสาระสำคัญสรุปความนำเสนอดังนี้ 
.
       มีรายงานวิจัยต่างประเทศระบุว่า ทักษะสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จสามารถพัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงปฐมวัย (อายุ ๐ - ๖ ปี) หลังจากนั้นการพัฒนาจะเริ่มลดลง ดังนั้นในช่วงปฐมวัยจึงเป็นห้วงเวลาสำคัญมาก ช่วงอายุที่พ่อแม่และครูต้องใส่ใจและให้ความสำคัญในการฝึกฝนและปลูกฝังเด็กเพื่อเสริมสร้างทักษะ EF เพื่อให้ได้มาซึ่งการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อสังคม ยิ่งต้นทุนทักษะสมอง EF สูงเท่าไรจะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสที่เด็กจะสามารถคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ได้ดีตั้งแต่เล็ก ๆ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต่อยอดการใช้ชีวิตที่ดีและเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
.

     งานวิจัยขององค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ค้นพบว่า แม้เด็กจะอยู่ที่บ้านไม่ต้องไปโรงเรียนแต่ก็มีภาวะความเครียดรอบตัวทั้งจากพ่อแม่ที่ดิ้นรนหารายได้เพิ่ม รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และยังเสี่ยงต่อการขาดตอนการเรียนรู้ไปพักใหญ่ เรียกได้ว่าโลกตกอยู่ในสถานการณ์ VUCA ที่เกิดความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ขณะที่การพัฒนาทักษะทางสังคมของไม่อาจหยุดยั้งได้ ทักษะนี้ยังมีอัตราการพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงวัยเรียน วัยรุ่น และถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่ ครู และเด็ก ต้องจับมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งฝ่าโควิด-๑๙ ไปด้วยกันให้ได้   
.
     โลกของเราขณะนี้ VUCA เสมือนภาวะพายุที่พัดโหมไม่รู้จักหยุด รวดเร็ว รุนแรง พลิกผวนกว่าที่คาดคิดชีวิตไม่สามารถคาดการณ์วางแผนหรือจัดการได้ดังที่เป็นมา คาดกันได้แต่ว่าอนาคตของโลกจะถูกพายุพัดโหมให้หมุนติ้ว เร็วยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก เมื่อเกิดการทำลายล้างของเทคโนโลยี รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-๑๙ คนที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ จึงไม่เพียงจะต้องมีทักษะศตวรรษที่ ๒๑ เท่านั้น จะต้องมีคุณลักษณะสำคัญเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น อึดฮึดสู้อย่างยิ่ง ล้มแล้วลุกได้ จิตใจหนักแน่นสมดุล มีความฉลาดทางอารมณ์ เรียนรู้ตลอดเวลาและสามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ 
.
     มีข้อมูลน่าสนใจ เด็กปฐมวัยทั้งประเทศมีพัฒนาการล่าช้าประมาณ ๑ ใน ๓ โดยเฉพาะด้านภาษา ช่วงอายุ ๑ - ๓ ปี มีพัฒนาการโดยรวมไม่สมวัยร้อยละ ๒๕ ช่วงอายุ ๔ - ๕ ปี ไม่สมวัยถึงร้อยละ ๔๒ คะแนนในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ซึ่งประเมินการคิดวิเคราะห์ของเด็กวัย ๑๕ ปีของนักเรียน ๗๙ ประเทศทั่วโลก พบว่า สมรรถนะเด็กไทยตกลงไปเรื่อย ๆ โดยในปี ๒๕๖๑ ด้านการอ่านของเด็กไทยตกไปอยู่ที่อันดับ ๖๘ ด้านคณิตศาสตร์ อันดับที่ ๕๙ และด้านวิทยาศาสตร์ อันดับที่ ๕๕ รายงานธนาคารโลกยังชี้ว่าเด็กไทยมีอัตราการขาดเรียนสูง ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน จากสถิติต่าง ๆ ข้างต้นดังกล่าวสะท้อนได้ว่าเด็กไทยในวัยต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า พวกเขาจะสามารถเติบโตขึ้นไปดูแลรับผิดชอบชีวิตตนเอง ไม่เป็นภาระของสังคมได้อย่างไร
 

 
     อาจนิยามคำว่า EF ให้เข้าใจได้ง่ายว่าคือ "สันดานดีที่สร้างสรรค์" ซึ่งหากปลูกฝังไว้ในตัวเด็กตั้งแต่เยาว์วัยแล้วก็จะเป็นอุปนิสัยหรือสันดานที่ดีของเด็กคนนั้นตลอดไปนั้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำความเข้าใจ ๓ กลุ่มทักษะ ที่แยกออกเป็น ๙ ด้านของทักษะ EF หรือการคิดเชิงบริหารและจัดการชีวิต จะเห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์เราทุกคนใช้ทักษะสมอง EF ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา เป็นทักษะในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ ใช้ในการตัดสินใจเพื่อจัดการกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วแก้ไขให้ลุล่วง ทำให้ชีวิตเดินหน้าไปได้ และเป็นทักษะที่ใช้ในการจัดการกับการเรียนรู้ เมื่อพบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ และใช้ในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและต่อสังคมปรับปรุงจากสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
 
 
     ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ และปฐมวัย ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจความรู้ฐานราก ๓ มิติ เพื่อการพัฒนาเด็ก ประกอบด้วย ๑.พัฒนาการด้านตัวตน ๒.พัฒนาการด้านทักษะสมอง EF และ ๓.พัฒนาการ ๔ ด้าน (ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา) ซึ่งสามารถส่งเสริมพร้อมกันไปอย่างบูรณาการได้ในทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวันไม่ใช่เร่งพพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เปรียบเสมือนสวมแว่นตาที่มีเลนส์ชัดขึ้นก็จะเห็นทั้งมิติตัวตน มิติ EF และมิติพัฒนาการด้านร่างกาย หรืออารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา ได้ในคราวเดียวกัน โดยสามารถสร้างโอกาสผ่านกระบวนการสำคัญ ๗ วิธีพัฒนาลูกสมวัย ได้แก่ กิน นอน กอด เล่น เล่า ช่วยเหลือตนเอง และงานบ้าน
.
     ในช่วงที่ผ่านมานักวิชาการด้านพัฒนาปฐมวัย ได้สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายขับเคลื่อนเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อพัฒนาสมองและทักษะเด็กปฐมวัยจนเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีผ่าน ๖ ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสมองดีมี EF ประกอบด้วย ๑.จัดการความรู้จากองค์ความรู้ในงานวิจัย EF นำมาจัดการความรู้และแปลงสารให้ง่าย สอดคล้องกับบริบทไทยและนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้ ๒.พัฒนาเครื่องมือพร้อมใช้หลากหลายวิธีสำหรับพ่อแม่และครูปฐมวัย เช่น ๗ วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดีมี EF ๓.สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทั้งในครอบครัวและชุมชน เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีความรู้ความเข้าใจใน EF สามารถนำเอาความรู้นี้ไปใช้เผยแพร่ ถ่ายทอดอย่างทั่วถึง ๔.สร้างพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องการส่งเสริม EF แบบบูรณาการ ๕.สร้างภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership จับมือทุกหน่วยงาน องค์กร เข้ามาร่วมเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง และ ๖.สร้างการสื่อสาร เพื่อกระจายความรู้และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ออกไปให้กว้างขวางสู่สาธารณชนผ่านแพตฟอร์มสื่อดิจิทัลที่มีความหลากหลาย เช่น Social media สื่อมวลชนต่าง ๆ ทั่งระดับชาติและท้องถิ่น
.
     อย่างไรก็ตาม รากฐานการปฏิรูปการศึกษานั้นจำเป็นต้องเริ่มที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย ดังนั้นสภาพแวดล้อมสำคัญที่จะทำหน้าที่ดูแล พัฒนา บ่มเพาะ ปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งปวงแก่เด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของสมอง จะมีคุณลักษณะพร้อมเป็นพลเมืองคุณภาพของชาติได้ในอนาคต นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการบรรจุวาระการพัฒนาทักษะสมอง EF ไว้แล้ว 
.

     อีกทั้งยังมีความพยายามในการปลดล็อกข้อจำกัดทางด้านการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นชุมชนในการจัดการศึกษาด้วยตัวเอง ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าตั้งแต่ปฐมวัย และร่วมกันนำแนวทางการส่งเสริมทักษะสมอง EF ไปใช้ในการพัฒนาเด็กในชุมชนของต้นอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งยังมีการบูรณาการในแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด