สภาการศึกษา ศึกษาโจทย์ท้าทายใหม่โรงเรียนภาคตะวันออก แก้ปัญหายากจน-เหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ

image

          วันนี้ (๖ สิงหาคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธาน ฯ ร่วมด้วยผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต ๒ ผู้แทนศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดจันทบุรี ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดจันทบุรี และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านการประชุมในรูปแบบ VDO Conference

         ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) คณะอนุ ฯ กกส. ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงปรับแผนการลงพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดจันทบุรี โดยสิบโทไชยยันต์ เกิดเหมาะ ศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคในภาพรวมเพื่อนำมาบูรณาการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า สัดส่วนผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษา มีสาเหตุที่ออกกลางคันมากที่สุดคือการอพยพตามผู้ปกครอง ร้อยละ ๕๓.๒๗ และมีผู้เรียนด้อยโอกาสและยากจนรวมกว่า ๑๖,๐๐๐ คน


.
          ด้าน นายสมชาย อรุณธัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต ๒ (สพป.จันทบุรี เขต ๒) ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนในเขตพื้นที่ จำนวน ๑๐๖ โรงเรียน กล่าวเสริมว่า อัตราส่วนของผู้เรียนยากจนและด้อยโอกาส ร้อยละ ๓๐ และยากจนพิเศษ ร้อยละ ๗ ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด ทำให้มีการจัดตั้ง “กองทุน ๑ บาทปาดน้ำตา” ผ่านการระดมทุนจากเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือผู้เรียนเดือนร้อนฉุกเฉินและยากจนเป็นพิเศษ โดยขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและระดมทุนจากภาคเอกชนในรูปแบบของทุนการศึกษา และพัฒนาครูผ่านการอบรมเกี่ยวกับการสอนรูปแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดจากความยากจนได้ในเบื้องต้น
          นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ เช่น ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพซึ่งมีฐานะยากจน มีเด็กพิการเรียนร่วมจำนวนมาก และปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้เรียน อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลปัจจุบันเป็นการรวบรวมสถิติเท่านั้น จำเป็นต้องเพิ่มการวิเคราะห์ข้อมูลให้เห็นถึงการกระจุกตัวของกลุ่มผู้เรียนด้อยโอกาสทั้งประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
          ทั้งนี้ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการค้นหาผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษทั้ง ๑๐ ประเภท ของ สพป.จันทบุรี เขต ๒ (ผู้นำ นักคิด นักสร้างสรรค์ นักวิชาการ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักภาษา นักกีฬา นักดนตรี และศิลปิน) โดยเสนอให้ต่อยอดขั้นตอนการเฟ้นหาผู้เรียนและติดตามพัฒนาการของผู้เรียนผ่านงานวิจัย เพื่อให้สถานศึกษาอื่น ๆ ถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบการจัดการเรียนการสอน โดยคณะอนุ ฯ กกส. ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลแต่ละพื้นที่เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด