สกศ. เดินหน้า พร้อมเป็นโซ่ข้อกลาง ผนึกกำลังองค์กรหลัก ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิกโฉมการผลิตกำลังคนของประเทศ

image

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สกศ. ร่วมกับองค์กรหลัก จัดการประชุมออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ใน 8 สาขาอาชีพนำร่อง โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ในการผลิตและพัฒนากำลังคน พร้อมด้วยผู้บริหาร 3 องค์กรหลัก ร่วมนำเสนอนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในบทบาทของแต่ละองค์การ คือ (1) นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำเสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัด สอศ. (2) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) นำเสนอการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ และความร่วมมือในการรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา และ (4) นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) นำเสนอบทบาทของ กพร. ในการนำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาพัฒนากำลังคนของประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และความร่วมมือกับ สอศ. ในการทดสอบและรับรองสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษา
 
 
 
 
 
การประชุมครั้งนี้ มี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายวณิชย์ อ่วมศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ จากทั้ง 4 องค์กรหลัก โดยมีผู้บริหารและคณาจารย์จาก 8 วิทยาลัยนำร่อง เข้าร่วมการประชุมและรายงานความก้าวหน้าในการปรับหลักสูตรในสาขาอาชีพที่แต่ละวิทยาลัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management: CVM) และมีผู้บริหารจากศูนย์ CVM และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) อีก 38 แห่งที่เหลือเข้าร่วมการประชุมด้วย
 
 
ในการดำเนินการดังกล่าวองค์กรหลักได้ร่วมมือกันดำเนินงานในเชิงบูรณาการ เน้นการทำงานแบบพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดย สกศ. พร้อมเป็นโซ่ข้อกลางในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) “เชื่อมสมรรถนะกำลังคนในโลกการศึกษา สู่การทำงานในโลกอาชีพ” การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการผลิกโฉมการปรับหลักสูตรโดยยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพของ สคช. และ/หรือมาตรฐานฝีมือแรงงานของ กพร. รวมถึงมาตรฐานระดับสากลที่ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ในการยกระดับสมรรถนะกำลังคน  
 
ผลจากการดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบการปรับหลักสูตรของวิทยาลัยนำร่อง เพื่อเตรียมการขยายผลไปยังวิทยาลัยที่เป็นศูนย์ CVM และศูนย์  Excellent Center อีก 34 แห่ง ซึ่งครอบคลุมทั้ง 42 สาขาวิชา/สาขางานในหลักสูตรที่เปิดสอนของสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ทั้งนี้ หลังจากที่วิทยาลัยนำร่องได้ปรับหลักสูตรแล้วเสร็จ โดยผ่านการประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) แล้ว สกศ. จะได้ร่วมกับ สอศ. กพร. และ สคช. ในการขึ้นทะเบียนหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้การรับรองการเป็นหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และจัดเตรียมทำคู่มือหลักสูตร อาทิ คู่มือผู้เรียน คู่มือครู คู่มือครุภัณฑ์ เพื่อเตรียมเปิดสอนในปีการศึกษา 2564 และ 2565 ต่อไป
 
ในการเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ใน 8 สาขาอาชีพนี้ ดำเนินการโดยวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่
1) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน (ระบบราง) วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
2) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
3) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
4) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน วิทยาลัยนำร่อง คือวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด
5) สาขาอาชีพอาหาร วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา
6) สาขาอาชีพเกษตร วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
7) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี
8) สาขาอาชีพแม่พิมพ์/เครื่องมือทางการแพทย์ วิทยาลัยนำร่อง คือ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด