สกศ. ประชุมคณะทำงานพิจารณากฎหมายลำดับรองที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

image

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564  สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา จัดประชุมคณะทำงานพิจารณากฎหมายลำดับรองที่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผ่านการประชุมในรูปแบบ VDO Conference เพื่อพิจารณากฎหมายลำดับรองให้มีความสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....  โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธานการประชุม และมีคณะทำงานเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหลายหน่วยงาน อาทิ นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา นายสมพงษ์ ผุยสาธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา นายดิเรก พรสีมา นายวิสิทธิ์ ใจเถิง นายธนชน มุทาพร นายกิติรัตน์ มังคละคีรี ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมพิจารณากฎหมายลำดับรองด้วย ดังนี้ 


.
1. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้นำเสนอกรอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... โดยสรุป คือ ใช้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นฐานคิด และคณะทำงานศึกษาข้อบกพร่องของโครงสร้างการบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้หลักการจัดทำ คือ ทำอย่างไรให้ได้ครูมีคุณภาพ เหมาะสำหรับการพัฒนาผูู้เรียนให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตามแต่ละช่วงวัย และที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรยกระดับสถานะหน่วยงานขึ้นเป็นกรม 2) ปรับโครงสร้างระบบการบริหารงานบุคคลใหม่เป็น 3 ระดับ คือ (1) ก.ค.ศ. (2) อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ และ (3) อ.ก.ค.ศ. จังหวัด 3) ควรมีการปรับบทบาทอำนาจและหน้าที่ของ ก.ค.ศ. 4) การกำหนดให้ ก.ค.ศ. เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 5) การกำหนดตำแหน่งวิทยฐานะ การได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 3 ประเภท 6) การกำหนดให้มีระบบคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (ก.พ.ค.ศ.) 7) การดำเนินการทางวินัย โดยแยกเป็นกรณีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่ร้ายแรงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และให้สำนักงาน ก.ค.ศ.นำข้อเสนอแนะไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
.
2. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... ที่ประชุมได้ให้หลักการ สรุปเป็นประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้ 1) การออกแบบโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้ยึดรูปแบบโครงสร้างเดิม 2) โครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่ดูแลระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษา ซึ่งการบริหารงานการจัดการศึกษาย่อมมีความแตกต่างกัน บางระเบียบใช้กับระดับมัธยมศึกษาได้แต่ไม่สามารถใช้กับระดับประถมศึกษา เนื่องจากบริบทของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของโรงเรียน วัยของเด็ก และการจัดการศึกษามีความแตกต่างกัน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การบริหารงานในส่วนนี้มีความคล่องตัว และการออกกฎระเบียบเพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างคล่องตัว 3) ควรศึกษาตัวอย่างการใช้อำนาจบริหารของปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และควรกำหนดรูปแบบการเชื่อมโยงอำนาจเพื่อให้มีศักยภาพในการบริหารงาน เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. .... 
.
3.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเตรียมการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ พ.ศ. .... ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรเปิดโอกาสให้บุคคลหรือบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการจัดทำหลักสูตร เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรร่วมกับ สสวท. โดยการออกเป็นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวและสามารถยืมตัวข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมาปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรต่าง ๆ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 2) ในการพัฒนาหลักสูตรควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรใหม่ได้ 3) การบริหารจัดการสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ควรแยกออกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด