สกศ. ส่งเสริมการเรียนรู้วัยเก๋า สังเคราะห์งานวิจัย ให้เป็น สูงวัย สูงค่า สูงปัญญา พัฒนาสังคม

image

วันนี้ (๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน ฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) นักวิจัยจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และผ่านการประชุมในรูปแบบ VDO Conference



ที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และศึกษาการดำเนินงานจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มวัย ๖๐-๗๐ ปี มีความสนใจใช้สื่อออนไลน์อย่างเช่น Line Facebook มากขึ้น เพื่อปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและสร้างความสุขทางใจ แต่ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุจำนวนมากยังเป็นเพียงผู้รับข่าวสารและมีความต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ และจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกับครอบครัว บุตรหลาน หรือชุมชน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาและกิจกรรมที่เชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด “สูงวัย สูงค่า สูงปัญญา พัฒนาสังคม” งานวิจัยยังชี้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายว่า ควรเผยแพร่และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาผู้สูงอายุ สู่การปฏิบัติอย่างชัดเจนผ่านความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยงานรัฐและเอกชน หรืออาจนำไปสู่การส่งเสริมแนวคิดมหาวิทยาลัยที่สาม (The University of the Third Age : U3As) เพื่อริเริ่มการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ

จากนั้นพิจารณา (ร่าง) แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม ผ่านองค์ประกอบความสำเร็จ ๑๒ ข้อ ดังนี้ ๑) การกำหนดช่วงอายุเป็น ๒ ระยะ คือ ผู้เตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุตั้งแต่ ๔๐-๕๙ ปี และผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป รวมทั้งกำหนดประเภทของผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง และติดสังคม ๒) หลักการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ๓) รูปแบบการจัดการศึกษา มุ่งเน้นความพร้อมและความสมัครใจของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ ๔) ศึกษาความต้องการของผู้สูงอายุในการศึกษาและการเรียนรู้ ๕) เนื้อหาสาระเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ 
.
๖) วิธีการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการผสานทั้งภาคการปฏิบัติและภาคทฤษฎี ๗) การประเมินระดับปัจเจกบุคคล ๘) สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาและการเรียนรู้และสิ่งอำนวยความสะดวก ๙) อุปกรณ์/สื่อเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในการจัดการศึกษา ๑๐) กลไกการดำเนินงานผู้สูงอายุในระดับชาติและระดับพื้นที่ ๑๑) ภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ และ ๑๒) แนวทางการจัดการศึกษา การดูแล และการพัฒนาผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เน้นย้ำถึงการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุแบบ Co-Learning Space ที่ต้องพัฒนาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระดับสถาบัน มหาวิทยาลัย หรือผู้เชี่ยวชาญ คอยสนับสนุนงบประมาณหรือองค์ความรู้ที่ผู้สูงอายุยังต้องการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสิ่งที่ต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมที่เป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด