วิษณุ มอบ สกศ. ปรับยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กปฐมวัยฝ่าโควิด-๑๙ สร้างเอกภาพ สธ.-มท.-พม.-ศธ. บรรลุเป้าหมายราบรื่น

image


     วันนี้ (๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔) รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) พร้อมประชุมผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) พร้อมผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ สกศ. ในการขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ประการสำคัญคือสร้างความเชื่อมโยงบูรณาการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายเด็กปฐมวัยทุกคน ในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน  


     ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในหลายด้าน อาทิ ความก้าวหน้า(ร่าง)แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงภาวะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ที่จำเป็นต้องสร้างการบูรณากันทุกหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดเอกภาพการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ 
     ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มอบหมาย สกศ. ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับผลกระทบโควิด-๑๙ เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาปฐมวัย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนสำคัญ ๖ คณะอนุกรรมการ ฯ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ เน้นย้ำติดตามการดําเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติของหน่วยงานต้นสังกัดทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนาและจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เพื่อสะท้อนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดําเนินงานตามมาตรฐาน ฯ อย่างต่อเนื่อง    

 


     นอกจากนี้ ยังพิจารณาแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ฯ รวม ๖ คณะ ประกอบด้วย ๑) คณะอนุ ฯ บูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ประธานอนุ ฯ) ๒) คณะอนุ ฯ พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ประธานอนุ ฯ) ๓) คณะอนุ ฯ วิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์ ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง ประธานอนุ ฯ) ๔) คณะอนุ ฯ กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ (รองศาสตราจารย์ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุ ฯ) ๕) คณะอนุ ฯ ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานอนุ ฯ) และ ๖) คณะอนุ ฯ พัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส (รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานอนุ ฯ)   

   


     ภายใต้ ๗ ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ประกอบด้วย ๑) การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย ๒) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ๓) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๔) การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ ๕) การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย ๖) การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และ ๗) การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล 

     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทน พม.-สธ.-มท. และ ศธ. ตั้งข้อสังเกตและอภิปรายข้อเสนอแนะปรับตัวชี้วัดอย่างละเอียดแต่ละยุทธศาสตร์ และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ มาตรการขับเคลื่อนสำคัญ และการติดตามประเมินผล เพื่อลดความซ้ำซ้อนในเชิงบริหารและเชื่อมโยงการบูรณาการที่เกิดความสอดคล้องเป็นรูปธรรมชัดเจน ประการสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาเด็กไม่ได้มีแค่พัฒนาการ ๔ ด้าน สังคม อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา แต่ยังมีทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง (Executive Functions : EF) ซึ่งมีความสำคัญเช่นกันโดยเพิ่มเสาหลักการพัฒนาตัวตนในเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเด็กปฐมวัย ผนวกเข้ากับแผนการขับเคลื่อนต่อเนื่องกันทุกกระทรวงในสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้เกิดความราบรื่นและไม่ขาดตอนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด