สกศ. ต่อยอดมิติกระจายอำนาจการศึกษา แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ-คุณภาพเฟ้นหา Sandbox ๔ ภูมิภาคพัฒนาผู้เรียนเชิงพื้นที่

image

   วันนี้ (๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔) คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ที่มี ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธาน โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) อย่างเคร่งครัด พร้อมประชุมผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

     ที่ประชุมรับทราบผลสรุปการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : กรณีศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี" ลงพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (รร.ตชด.) บ้านคลองวาย อำเภอวิภาวดี โรงเรียนวัดเขาพระนิ่ม อำเภอกาญจนดิษฐ์ โรงเรียนบ้านเกาะนกเภา อำเภอดอนสัก โรงเรียนบ้านเกาะพลวย อำเภอเกาะสมุย ทำให้ทราบถึงสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของการจัดการศึกษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่บนเกาะ ซึ่งมีข้อจำกัดและปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางบนเกาะสูงกว่าบนบก ปัญหาเรื่องเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ปัญหาจำนวนเด็กลดลงจากการเกิดที่น้อยลงทุกปี รวมทั้งสถานภาพของครูที่มีคุณวุฒิตรงสาขายังไม่เพียงพอ 

       อย่างไรก็ดี พบข้อมูลว่าโรงเรียนในพื้นที่มีความเข้มแข็งพยายามช่วยเหลือตัวเองแม้จะมีข้อกำกัดเรื่องงบประมาณแต่พยายามหารายได้ด้วยตัวเอง และแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเด็กมีคุณภาพในการเรียนที่ดี และรับทราบ(ร่าง)เอกสาร "กรณีศึกษาจังหวัดเลย : การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" นอกจากนี้ ยังหารืออย่างกว้างขวางถึงสภาพความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษามีทิศทางที่ดีขึ้น โอกาสการเข้าถึงการศึกษาตามช่วงวัยของนักเรียนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษามีประสิทธิภาพดีขึ้น 

      ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนจนมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น ได้แก่ การได้รับทุนการศึกษาและการเข้าร่วมกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งพบข้อมูลว่าเด็กยากจนที่กำลังเรียนหนังสือได้รับทุนการศึกษา หรือสามารถเข้าถึงโครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้น้อย ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพและการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา เช่น งบประมาณการศึกษายังคงมีอยู่ในหลายมิตินอกเหนือจากปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศไทยที่อยู่ในระดับที่ต่่ำและมีแนวโน้มที่คุณภาพจะลดลงแล้ว ยังพบความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างสังกัดโรงเรียน ขนาดโรงเรียน ภูมิภาค และระหว่างกลุ่มรายได้ของประชากร อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาด้วย

 

     ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทางการลงพื้นที่เตรียมจัดการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : กรณีศึกษาจังหวัดภาคตะวันออก" และหารือถึงการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แสวงหาแนวทางการจัดการศึกษาบนหลักแห่งความเสมอภาคกัน การสร้างกลไกเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน จึงต้องการการออกแบบที่สนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่เป็นสำคัญคือการศึกษาเพื่อท้องถิ่นสำหรับแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน ตามบริบทเชิงพื้นที่ สภาพภูมิประเทศ และทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเป็นพื้นที่เฉพาะรองรับการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Sandbox) โดยใช้ทั้งงานวิจัยและข้อมูลเชิงพื้นที่สังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ 

        ขณะที่การขับเคลื่อนสำคัญต้องปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมุ่งเน้นปฏิรูปการผลิตสร้างครูทั้งระบบทั้งตัวหลักสูตร การเรียนการสอนของครูเพื่อสร้างครูที่มีคุณภาพเพื่อไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กสามารถที่จะมีความคิดริเริ่ม กล้าสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และปรับตัวแก้ปัญหาร่วมกับสังคมได้ ไม่ใช่การศึกษาในแบบเดิมที่ต้องจำตามครูบอก ดังนั้นการสร้างระบบการศึกษาในแนวทางที่จะลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องลงทุนในหลายมิติไม่เพียงด้วยงบประมาณ หากแต่ต้องสร้างการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วยเสริมสร้างความเข้มแข็งการพึ่งตนเองและเป็นอิสระทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษาของชุมชน 
         ทั้งนี้ คณะอนุ กกส.ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กำลังเร่งยกร่างข้อเสนอแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติสร้างการบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน ๔ ภูมิภาค รายงานต่อที่ประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ตามลำดับ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด